pcd.go.th
ขนาดอักษร |
Q1: อยากทราบหลักการทางวิศวกรรมที่ใช้ในการออกแบบระบบบำบัดน้ำชะขยะด้วยครับ

A1: การบำบัดน้ำชะขยะมูลฝอยด้วยกระบวนการทางชีววิทยา โดยส่วนใหญ่แล้วในประเทศไทยจะใชระบบบ่อปรับเสถียร (Stabilization Pond) ซึ่งเกณฑ์การออกแบบที่ใช้ทั่วไป มีดังนี้

พารามิเตอร์ในการออกแบบและใช้ตรวจสอบระบบบำบัดน้ำชะขยะมูลฝอยแบบบ่อปรับเสถียร

พารามิเตอร์
บ่อบำบัดแบบไร้อากาศ
(Anaerobic Pond)
บ่อผึ่ง
(Facultative Pond)
บ่อใช้อากาศ
(Aerobic Pond)
บ่อบ่ม
(Maturation Pond)
ความลึก
(เมตร)
2 – 4
2 – 3
0.2 – 0.6
1 – 1.5
ระยะเวลาเก็บกักน้ำ
(Hydraulic Retention Time)
(วัน)
220 – 680
30 – 40
40 – 50
อัตราภาระบีโอดี
(กรัม BOD5/ตารางเมตร/วัน)
50
70 – 80
80 – 90
60 – 80
ประสิทธิภาพการลด BOD5
(ร้อยละ)
50
70 – 80
80 – 90
60 – 80
pH
6.5 – 7.5
6. 5 – 8.0
6.5 – 8.0
6.5 – 8.0
สารแขวนลอย
(มิลลิกรัมต่อลิตร)
30 – 150
30 – 150
30 – 200
30 – 300

การออกแบบระบบมักจะเริ่มด้วยการบำบัดโดยใช้บ่อบำบัดแบบไร้อากาศตามด้วยบ่อผึ่งตามด้วยบ่อใช้อากาศ และบ่อบ่มเพื่อตกตะกอนสาหร่ายและจุลินทรีย์ก่อนหมุนเวียนไปใช้ประโยชน์ในสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย

ที่มา

  1. กรมควบคุมมลพิษ, การวิจัยและพัฒนาระบบกำจัดน้ำเสียจากมูลฝอยแบบประหยัดพื้นที่และค่าใช้จ่าย, 2543
  2. กรมควบคุมมลพิษ, คู่มือปฏิบัติการในการดูแลและเดินระบบฝังกลบขยะมูลฝอย, 2547
  3. กรมควบคุมมลพิษ, น้ำเสียชุมชนและระบบบำบัดน้ำเสีย, 2545
Q2: ประเทศไทยมีที่ใดบ้างที่ใช้วิธีกำจัดขยะมูลฝอยแบบเตาเผาขยะมูลฝอยแบบถูกต้องตามหลักวิชาการ
A2: ปัจจุบันมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดำเนินการกำจัดขยะมูลฝอยโดยใช้เตาเผาอยู่ 3 แห่ง
ได้แก่

  1. เทศบาลนครภูเก็ต เตาเผามีความสามารถกำจัดขยะมูลฝอยวันละ 250 ตัน ให้บริการรองรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งในจังหวัดภูเก็ต ปัจจุบันดำเนินการโดยใช้งบประมาณจากกระทรวงมหาดไทยและเทศบาลฯ
  2. เทศบาลตำบลเกาะสมุย เตาเผามีความสามารถในการรองรับกำจัดขยะมูลฝอยวันละ 70 ตันต่อเตา มีจำนวน 2 เตาเผา ปัจจุบันยังดำเนินการด้วยงบประมาณจากกระทรวงมหาดไทยและเทศบาล
  3. เทศบาลเมืองลำพูน ความสามารถในการกำจัดขยะมูลฝอยของเตาเผาวันละ 20 ตัน ปัจจุบันดำเนินการกำจัดด้วยงบประมาณของเทศบาลฯ
Q3: ปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากขยะเทศบาลนั้นนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง
A3: สัดส่วนองค์ประกอบขยะของขยะมูลฝอยประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ เป็นพวก เศษอินทรีย์ เศษอาหาร ซึ่งหากสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์โดยการเป็นปุ๋ยอินทรีย์ (สารบำรุงดิน) จะช่วยในการลดปริมาณขยะมูลฝอยที่ต้องกำจัดโดยวิธีอื่นปุ๋ยหมัก (สารบำรุงดิน) ที่ได้จากการหมักขยะมูลฝอยอินทรีย์ สามารถนำมาประโยชน์ได้หลายแนวทาง ซึ่งแยกได้ดังนี้

  1. เป็นแหล่งอาหารของจุลินทรีย์ในดิน
  2. ช่วยลดปริมาณเชื้อโรคพืชบางชนิดในดิน
  3. ช่วยปรับสภาพความเป็นกรด-ด่าง (pH) ของดิน
  4. ช่วยในการปรับปรุงสภาพดิน

โดยช่วยเพิ่มอินทรีย์วัตถุและธาตุอาหาร ทำให้ดินมีคุณสมบัติเหมาะต่อการเจริญเติบโตของพืช ส่งผลทำให้ผลผลิตสูงขึ้น ปุ๋ยหมักช่วยทำให้ดินมีคุณสมบัติเหมาะแก่การเพาะปลูก ดังนี้

  • ดินมีการจับตัวกันอย่างเหมาะสม ทำให้การระบายน้ำและอากาศถ่ายเทได้ดี
  • ดินมีความร่วนซุยดี
  • ดินมีธาตุอาหารครบถ้วน ทั้งธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรอง
  • ดินมีอินทรีย์สารต่างๆ อยู่อย่างครบถ้วน

การใช้ประโยชน์ของปุ๋ยหมัก

1.การใช้ปุ๋ยหมักกับการปลูกพืช ผัก และไม้ดอก ในแปลงปลูก เตรียมแปลงตามความต้องการ และโรยปุ๋ยหมักให้ทั่วแปลง หนาประมาณ 2-4 เซนติเมตร ใช้จอบสับคลุกเคล้าให้ลึกประมาณ 20 เซนติเมตร และรดน้ำให้ทั่วแปลง หมักดินไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นจึงนำพืชมาปลูกได้

2.การใช้ปุ๋ยหมักกับการปลูกพืชในกระถางผสมปุ๋ยหมักกับดินร่วนในอัตราส่วน 1:5 โดยปริมาตร รดน้ำให้ชุ่มและทิ้งไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ แล้วจึงนำใส่ภาชนะหรือกระถางเพื่อปลูกพืชต่อไป

3.การใช้ปุ๋ยหมักกับพืชไร่และไม้ผล
สามารถทำได้ 2 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 ผสมปุ๋ยหมักลงในหลุมปลูก โดยใช้อัตราส่วนปุ๋ยหมักกับดิน เท่ากับ1:5 คลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วจึงนำกิ่งพันธุ์ไม้ผลลงปลูก เมื่อปลูกเสร็จแล้วควรทำการคลุกดินบริเวณโคนต้นด้วยฟางหรือหญ้าแห้ง

ระยะที่ 2 การใช้ปุ๋ยหมักระหว่างการเจริญเติบโตของต้นไม้ กล่าวคือ หลังจากปลูกไม้ผล หรือพืชไร่แล้ว ควรใส่ปุ๋ยหมักให้ปีละ 1 ครั้ง เพื่อช่วยปรับสภาพดินให้ร่วนซุย

Q4: อยากทราบว่าปรอทที่บรรจุในเทอร์โมมิเตอร์ หากมีการแตก เราจะมีวิธีการกำจัดและทำลายปรอทได้อย่างไร โดยผู้ที่กำจัดไม่ได้รับอันตรายจากสารปรอท และไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม
A2: ปรอท (Mercury) จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 หมายความว่า การผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ครอบครองต้องได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมปรอทมีผลกระทบต่อสุขภาพเมื่อร่างกายได้รับสัมผัสปรอท และก่อให้เกิดการสะสมในร่างกายได้ ปรอทมีความเป็นพิษมากต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยในน้ำ และอาจมีผลเสียระยะยาวต่อระบบนิเวศในน้ำ

การได้รับปรอท
อันตรายต่อสุขภาพอนามัย
สัมผัสทางหายใจ การหายใจเข้าไป ทำให้เกิดการระคายเคืองทางเดินหายใจรุนแรง มีอาการเจ็บคอ ไอ เจ็บปวด เจ็บหน้าอก หายใจติดขัด ปวดศีรษะ กล้ามเนื้ออ่อนล้า หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ
สัมผัสทางผิวหนัง การสัมผัสถูกผิวหนัง สามารถดูดซึมผ่านผิวหนังได้ เป็นผื่นแดงและทำให้ปวดแสบปวดร้อน
กินหรือกลืนเข้าไป การกินหรือกลืนเข้าไป ทำให้แสบไหม้ปาก หลอดอาหาร ทำให้เป็นแผล มีอาการปวดท้อง อาเจียน และท้องร่วง ทำให้หัวใจเต้นอ่อนลง
สัมผัสถูกตา การสัมผัสถูกตา ทำให้แสบไหม้ เป็นตาแดง และเจ็บปวด ทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจน
การก่อมะเร็ง สารนี้มีผลทำลายระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ความจำเสื่อม บุคลิกภาพ และพฤติกรรมเปลี่ยน กระเพาะอาหารและลำไส้ผิดปกติ ผื่นแดง ทำลายสมองและไต

การกำจัดกรณีรั่วไหล (Leak and Spill)

  1. ห้ามสูดดมไอระเหยของปรอท ไม่ควรสัมผัสกับสาร หากทำงานในห้องปิด ต้องแน่ใจว่ามีแหล่งอากาศบริสุทธิ์เพียงพอ
  2. ทำความสะอาดโดยสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายที่เหมาะสม
  3. ให้ใช้การ์ดพลาสติก หรือกระดาษแข็ง ตักปรอทที่หกรั่วไหลและะเก็บไว้ในภาชนะบรรจุที่แห้งและปิดมิดชิด เช่น ขวดแก้ว หรือใส่ถุงพลาสติกประมาณ 2 – 3 ชั้น ก่อนนำไปกำจัด
  4. สถานที่ทิ้ง สามารถนำไปทิ้งไว้ในภาชนะที่สถานพยาบาลหรือโรงพยาบาล เพื่อรวบรวมไว้กับอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ชำรุดเพื่อรอกำจัดโดยสถานพยาบาลต่อไป หากไม่สะดวกหรือจำเป็นต้องทิ้งลงถังขยะภายในบ้านหรือที่ทิ้งขยะ ควรบรรจุในภาชนะหรือใส่ถุง และเขียนกำกับว่าเป็น “ของเสียอันตราย” โดยใส่ถุงแยกออกจากขยะทั่วไป เพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบการจัดการขยะนำไปกำจัดได้อย่างถูกวิธีตามหลักวิชาการต่อไป
  5. ป้องกันไม่ให้สารเคมีที่หกรั่วไหล ไหลลงสู่ท่อระบายน้ำ แม่น้ำ และแหล่งน้ำอื่น ๆ
  6. ให้ดูดซับส่วนที่หกรั่วไหลด้วยซัลเฟอร์ หรือแคลเซียม โพลีซัลไฟด์ เพื่อป้องกันอันตรายของปรอท
  7. การพิจารณากำจัด ให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่ทางราชการกำหนด

อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล

ควรสวมใส่ชุดป้องกันที่เหมาะสมกับบริเวณทำงาน โดยพิจารณาจากความเข้มข้นและปริมาณสารอันตรายที่ใช้ ควรมีการตรวจสอบความทนทานต่อสารเคมีของชุดป้องกันโดยตัวแทนจำหน่าย

หน้ากากป้องกันการหายใจ
ถุงมือ
ชุดป้องกันสารเคมี
แว่นตานิรภัย

สุขอนามัยทางอุตสาหกรรม ให้เปลี่ยนเสื้อผ้าที่เปื้อนสารเคมีทันที ทาครีมป้องกันผิวหนัง ล้างมือและหน้าหลังจากการใช้สาร ทำงานภายใต้ตู้ควัน ห้ามสูดดมสาร ห้ามกินอาหาร/ดื่มในบริเวณทำงาน

การปฐมพยาบาล (First Aid)

การได้รับปรอท
การปฐมพยาบาล
หายใจเข้าไป ถ้าหายใจเข้าไป ให้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกสู่บริเวณที่มีอากาศบริสุทธิ์ ถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจ ให้ช่วยผายปอด ถ้าหายใจลำบาก ให้ออกซิเจนช่วย นำส่งไปพบแพทย์ทันที
กินหรือกลืนเข้าไป ถ้ากินหรือกลืนเข้าไป กระตุ้นให้เกิดการอาเจียนทันที ห้ามไม่ให้สิ่งใดเข้าปากผู้ป่วยที่หมดสติ ให้ส่งไปพบแพทย์ทันที
สัมผัสถูกผิวหนัง ถ้าสัมผัสถูกผิวหนัง ให้ฉีดล้างผิวหนังทันทีด้วยน้ำปริมาณมากอย่างน้อย 15 นาที พร้อมถอดเสื้อผ้าและรองเท้าที่ปนเปื้อนสารเคมีออก ส่งไปพบแพทย์ทันที ซักทำความสะอาดเสื้อผ้าก่อนนำกลับมาใช้ใหม่
สัมผัสถูกตา ถ้าสัมผัสถูกตา ให้ฉีดล้างตาทันทีด้วยน้ำปริมาณมากอย่างน้อย 15 นาที กระพริบตาถี่ ๆ นำส่งไปพบแพทย์ทันที

การเกิดอัคคีภัยและการระเบิด (Fire and Explosion)

ปรอทไม่ลุกไหม้ติดไฟ และเกิดการระเบิดที่เป็นอันตรายกรณีเกิดเพลิงไหม้ ให้เลือกใช้สารดับเพลิง/วิธีการดับเพลิงที่เหมาะสมสำหรับวัสดุที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง ป้องกันมิให้น้ำที่ใช้ดับเพลิงไหลลงแหล่งน้ำบนดินหรือใต้ดิน ผู้ดับเพลิงต้องสวมใส่อุปกรณ์ช่วยหายใจชนิดมีถังในตัว (SCBA) เปลวไฟในบริเวณใกล้เคียงอาจทำให้เกิดไอระเหยของปรอทและปรอทออกไซด์

Q5: ทราบได้อย่างไรว่าของเสียอันตรายที่ถูกควบคุมจากการเคลื่อนย้ายข้ามแดน (นำเข้า-ส่งออก) ของประเทศไทย
A5: สามารถตรวจสอบได้จาก

  1. บัญชีรายการในภาคผนวก 1 และ 8 ตามอนุสัญญาบาเซล
  2. บัญชีรายการของเสียอันตรายตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535
Q6: การส่งออกของเสียอันตรายออกไปต่างประเทศ จะตรวจสอบได้อย่างไรว่าประเทศผู้นำเข้า – ส่งออกเป็นประเทศตามอนุสัญญาบาเซลหรือไม่
A6: สามารถตรวจสอบรายชื่อประเทศที่ให้สัตตยาบันตามอนุสัญญาบาเซลได้จาก www.basel.int 
Q7: หากต้องการจะส่งออกเศษพลาสติกหลายชนิดปนกันไปยังประเทศจีนต้องขออนุญาตจากกรมควบคุมมลพิษด้วยพรือไม่
A7: การส่งออกเศษพลาสติกไปยังประเทศจีนไม่ต้องขออนุญาตจากกรมควบคุมมลพิษ เนื่องจาก เศษพลาสติกไม่ได้เป็นสินค้าหรือวัตถุอันตรายที่ขออนุญาตการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรตามกฎหมายใด ๆ แต่เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 112) พ.ศ. 2539 ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2539 โดยจะอนุญาต ให้นำเข้าได้ตามความเห็นชอบของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งพลาสติกใช้แล้วที่จะนำเข้าต้องเป็นไปเงื่อนไขที่กำหนดในประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการอนุญาตนำเศษ เศษตัด และของที่ใช้ไม่ได้ ซึ่งเป็นพลาสติกไม่ว่าใช้แล้วหรือไม่ก็ตาม เข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2549 ฉบับลงวันที่ 18 ธันวาคม 2549
Q8: สถานที่รับกำจัด/บำบัด เก็บรวบรวมขนส่งของเสียอันตรายที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายมีที่ใดบ้าง
A8: สามารถตรวจสอบสถานที่หรือตัวแทนที่ให้บริการรับกำจัด/บำบัด เก็บรวบรวมขนส่ง เสียของเสียได้จากเว็บไซด์กรมโรงงานอุตสาหกรรม http://www2.diw.go.th/iwmb/index.asp หรือสำนักงานโรงงานอุตสาหกรรมการรายสาขา 6 โทรศัพท์ 02202 4165, 02202 4242
Q9: สถานที่รับกำจัด/บำบัดของเสียอันตรายมีของทางราชการหรือไม่ อยู่ที่ไหนบ้าง ขอทราบทราบสถานที่ติดต่อ
A9:
สถานที่รับจัดการของเสียอันตราย ในปัจจุบันเป็นของภาคเอกชน แต่ต้องได้รับอนุญาติให้ประกอบกิจการจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมก่อนดำเนินการ ตัวอย่างเช่น (ข้อมูลเมื่อพฤศจิกายน 2550)

  1. 1.สถานที่รับจัดการของเสียอันตราย ด้วยวิธีฝังกลบแบบปลอดภัย

1.1 บริษัท บริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) โทร. 0 2502 0998-9
1.2 บริษัท เบตเตอร์ เวิลดิ์ กรีนจำกัด (มหาชน) โทร. 0 2731 2574
1.3 บริษัท โปรเฟสชันแนล เวสต์ เทคโนโลยี (1999) จำกัด (มหาชน) โทร. 0 2261 3721-3

  1. 2.สถานที่รับจัดการของเสียอันตราย ด้วยวิธีเผาทำลายในเตาเผาปูนซิเมนต์

2.1 บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (โรงงานแก่งคอย) โทร. 0 3624 5428-9,0 3635 7102
2.2 บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (โรงงานท่าหลวง) โทร. 0 3635 1200-9
2.3 บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (โรงงานเขาวง) โทร. 0 3633 4710-1
2.4 บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (โรงงานลำปาง) โทร. 0 5427 1501
2.5 บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (โรงงานทุ่งสง) โทร. 0 7553 8111
2.3 บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวงไทย จำกัด โทร. 0 2797 7000
2.4 บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) โทร. 0 3633 9228

  1. 3.สถานที่รับจัดการมูลฝอยติดเชื้อ ด้วยวิธีการเผาในเตาเผามูลฝอยติดเชื้อ มีจำนวน 11 แห่ง ดังนี้

3.1 เทศบาลนครเชียงใหม่ โทร. 053 – 259000
3.2 เทศบาลเมืองสุพรรณบุรี โทร. 035- 511021 ต่อ 110
3.3 องค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี โทร. 02-5913383
3.4 กรุงเทพมหานคร โทร. 02-658 5858
3.5 เทศบาลนครสมุทรสาคร โทร. 034-411208
3.6 เทศบาลนครภูเก็ต โทร. 0-7621-2196, 0-7621-3551
3.7 เทศบาลนครอุดรธานี โทร. 042-325176-85
3.8 เทศบาลนครขอนแก่น โทร. 043-221202, 043-224818
3.9 เมืองพัทยา โทร. 038-253100
3.10 เทศบาลนครหาดใหญ่ โทร. 074-200000
3.11 เทศบาลนครพิษณุโลก โทร. 0-5523-1400 ต่อ 104-110

  1. 4.สถานที่รับจัดการของเสียอันตราย ด้วยวิธีการรีไซเคิล

4.1 บริษัท เทคโนเคม จำกัด โทร. 0 2918 1066
4.2 บริษัท ซิต้า ไทย เวสท์ แมเนจเมนต์ เซอร์วิส จำกัด
4.3 บริษัท อุตสาหกรรมน้ำมันไทย จำกัด
4.4 บริษัท เอเชี่ยน พีวีเอส เคมีคัล จำกัด โทร. 0 3857 0441
4.5 บริษัท เอเชี่ยน เคมีคอล จำกัด โทร. 0 3857 0441
4.6 บริษัท สุวรรณมงคล ออยส์ จำกัด
4.7 บริษัท ซีเค รีเจน ชีสเต็มส์ จำกัด
4.8 บริษัท เอเชีย รีไฟนิ่ง จำกัด
4.9 ห้างหุ้นส่วนจำกัด วริศ โลหะกิจ โทร. 0 3896 8155
4.10 บริษัท ระยองเวสต์ จำกัด โทร. 0 3896 8155
4.11 บริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด โทร. 0 3271 130
4.12 ห้างหุ้นส่วนจำกัด สุขเจริญทรัพย์ รีไซเคิล
4.13 บริษัท เอ เค เอ็นไวรอนเมนทอล อัลไลแอนซ์ จำกัด
4.14 บริษัท รีไซเคิลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด โทร. 0 2749 9650
4.15 บริษัท รีฟายน์เทค จำกัด
4.16 บริษัท ไทย ซีซิง จำกัด โทร. 0 3442 3603
4.17 บริษัท ส.เจริญ ไทย รีไซเคิล จำกัด
4.18 บริษัท เอส พี วี ปิโตรเลียม จำกัด
4.19 บริษัท เวสท์ รีโคเวอรี่ จำกัด

สำหรับโรงงานรับจัดการของเสียอันตรายด้วยวิธีการอื่น ๆ ที่ได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สำนักโรงงานอุตสาหกรรมรายสาขา 6 โทร 0 2202 4065,68 หรือ ตรวจสอบรายชื่อโรงงานตามประเภทโรงงานอุตสาหกรรมได้ที่ http://www.diw.go.th/diw_web/html/versionthai/data/Download_fac2.asp 

Q10: กระเบื้องมุงหลังคา แผ่นฝ้าเพดาน และผนังที่มีส่วนประกอบของแอสเบสตอส จะสังเกตเห็นได้อย่างไร เป็นอันตรายอย่างไร และควรกำจัดอย่างไร
A10: การใช้งานของแอสเบสตอส เกิดจากลักษณะเด่นในความเป็น “ใยหิน” ที่ทนไฟและสารเคมี ดังนั้น การใช้งานแอสเบสตอสเกือบทั้งหมดจะยังคงลักษณะความเป็นแร่ใยหินให้เห็นอยู่ และมักไม่มีการนำแอสเบสตอสไปผสมกับวัสดุอื่น ในลักษณะที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางกายภาพและทางเคมีของแอสเบสตอสจนไม่สามารถสังเกตุเห็นเส้นใย ซึ่งวัสดุที่มีส่วนประกอบของแอสเบสตอสส่วนใหญ่มักสามารถสังเกตุเห็นได้ด้วยตาเปล่า หรือ ใช้แว่นขยาย นอกเสียจากเป็นการผสมในระดับโมเลกุลที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าหรือแว่นขยายความเป็นอันตรายของแอสเบสตอส โดยปกติอันตรายจากแอสเบสตอสมักเกิดเมื่อเส้นใยแอสเบสตอสกลายเป็นฝุ่น และลอยอยู่ในอากาศและถูกสูดหายใจเข้าไปในร่างกาย และเนื่องจากฝุ่นนั้นมีขนาดเล็กมากๆ ซึ่งปอดไม่สามารถไล่เส้นใยเหล่านี้ออกฝ่านลมหายใจได้ อีกทั้งแอสเบสตอสเป็นฝุ่นแหลมขนาดเล็กซึ่งสามารถมุดผ่านผิวหนังและผ่านไปยังกระแสเลือดได้อีกด้วย ซึ่งโรคที่เกิดจากแอสเบสตอสมีหลายโรค เช่น แอสเบโตซิส โรคมะเร็งเยื้อหุ้มปอดและเยื่อบุช่องท้อง เป็นต้น ดังนั้น การป้องกันอาตรายจากแอสเบสตอส สามารถทำได้โดย หลีกเลี่ยงการกระทำที่จะทำให้แอสเบสตอสแตก และป้องกันตัวเองโดยการสวมหน้ากากที่มีตลับกรองใยฝุ่นหิน สวมเสื้อ สวมแว่นตาและกางเกงขายาวคุมผิวหนัง ห่อหุ้มชิ้นส่วนที่พบแอสเบสตอสพร้อมติดป้ายเตือนให้ชัดเจน และติดต่อผู้เชี่ยวชาญมานำไปกำจัดอย่างถูกวิธีการกำจัดแอสเบสตอส แอสเบสตอสสามารถกำจัดได้โดยการนำไปฝังกลบอย่างปลอดภัย ไม่นิยมนำมาเผาเนื่องจากแอสเบสตอสเป็นวัสดุที่ทนไฟ
Q11: กากตะกอนที่มีโลหะหนักจะมีวิธีกำจัดอย่างไร
A11: การกำจัดกากตะกอนที่มีโลหะหนักปนเปื้อน จะต้องใช้ขบวนการบำบัดทางเคมี – ฟิสิกส์ (Physic Chemical – Physical Treatment) โดยหลักการของวิธีนี้คือ การทำลายฤทธิ์ด้วยสารเคมีให้หมดสภาพอันตราย และอยู่ในสภาพที่คงตัวไม่ละลายน้ำได้อีก โดยอาจทำการปรับเสถียรหรือการทำให้เป็นก้อนแข็ง (Stabilization and Solidification) เพื่อเป็นการลดความเป็นพิษ โดยการเติมสารเคมีให้ทำปฏิกิริยากับสารพิษที่เจอปนอยู่ในของเสียทำให้สารพิษนั้นอยู่ในรูปสารประกอบอื่นที่ไม่เป็นพิษและไม่ละลายน้ำ (กากตะกอนที่บำบัดด้วยวิธีนี้ก่อนจะนำไปฝังกลบควรทดสอบคุณสมบัติก่อนว่าไม่ละลายน้ำ โดยค่าน้ำชะขยะ (Leachate) ของโลหะหนักที่ปนเปื้อนจะต้องไม่เกินมาตรฐานที่กำหนด) หลังจากที่กากตะกอนได้รับการบำบัดให้หมดความเป็นพิษแล้วจะถูกนำไปฝังกลบอย่างปลอดภัย (Secure Landfill) โดยโรงงานหรือสถานประกอบที่รับกำจัดของเสียอันตราย
Q12: รายละเอียดของน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้ว ด้านโครงสร้างทางเคมี องค์ประกอบ ความเป็นพิษ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
A12:1.โครงสร้างทางเคมีน้ำมันหล่อลื่นเมื่อใช้แล้ว คุณสมบัติต่างๆ จะเปลี่ยนแปลงไปตามการใช้งาน ดังนั้น โครงสร้างของต่างๆ ของน้ำมันหล่อลื่นก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวไม่สามารถจัดหาให้ได้2.องค์ประกอบของน้ำมันหล่อลื่นน้ำมันหล่อลื่นประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือ น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน (Base Lube Oil) และสารเติมแต่งคุณภาพ ได้แก่ สารต้านปฏิกิริยาออกซิเดชั่น สารช่วยป้องกันการเกิดสนิม สารช่วยกระจายเขม่า สารต้านทานการสึกหรอ สารเพิ่มดรรชนีความหนืด สารลดจุดไหลเท สารต้านการเกิดฟอง และสารรับแรงกดสูง เป็นต้น3.ความเป็นพิษจากการสัมผัสน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้วเป็นประจำ ผิวหนังจะแห้งแตก ระคายเคืองเป็นผื่นแดง เกิดการติดเชื้อและการแพ้ได้ง่ายจากการสูดดม หากสูดดมไอละอองของน้ำมันหล่อลื่น ในขณะที่มีการใช้งานของเครื่องยนต์จะเกิดอาการวิงเวียน คลื่นไส้ อ่อนเพลีย ง่วงนอน และมีอาการระคายเคืองต่อหลอดลมและปอด จากการเข้าสู่ร่างกาย จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ ปวดท้องและท้องเสีย เนื่องจากสารเติมแต่งคุณภาพในน้ำมันหล่อลื่น4.ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมการทิ้งน้ำมันหล่อลื่นลงสู่แหล่งน้ำ หากทิ้งนำมันหล่อลื่นใช้แล้วลงสู่ท่อระบายน้ำหรือแหล่งน้ำ จะทำให้เกิดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต และนิเวศวิทยาในแหล่งน้ำ เนื่องจากน้ำมันจะลอยตัวและรวมตัวกลายเป็นแผ่นฟิลม์ที่ผิวน้ำ แสงแดดจึงไม่สามารถส่องผ่านได้ ออกซิเจนไม่สามารถละลายลงสู่แหล่งน้ำทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลง ความเข้มของน้ำมันหล่อลื่นทำให้น้ำดูดซับความร้อนจากแสงอาทิตย์ทำให้น้ำมีอุณหภูมิสูงขึ้น ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตในน้ำการเผาทิ้งน้ำมันหล่อลื่น จะทำให้เกิดไอพิษ ควันพิษที่มีสารโลหะหนัก ออกไซด์ของโลหะต่างๆ ฟุ้งกระจายสู่บรรยากาศ
Q13: ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดการน้ำมันหล่อลื่นที่ใช้แล้วอย่างถูกวิธี
A13: การจัดการน้ำมันหล่อลื่นที่ใช้แล้ว
การจัดการน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้วสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การนำน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้วมาปรับใช้ในรูปสารละลาย น้ำมันหล่อลื่นใช้แล้วมากลั่นเป็นน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานกลั่นใช้ใหม่ และการนำน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้วมาใช้เป็นพลังงานทดแทน หรือการเผาทิ้ง ทั้งนี้การเผาน้ำมันหล่อลื่นอย่างไม่ ถูกวิธีจะทำให้เกิดไอพิษ ควันพิษที่มีสารโลหะหนัก ออกไซด์ของโลหะต่างๆ ฟุ้งกระจายสู่บรรยากาศ หากต้องการรายละเอียดอื่นๆ สามารถสอบถามได้จาก กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานโรงงานอุตสาหกรรมรายสาขา 6 โทร. 02-202-4167-8 http://www2.diw.go.th บริษัทผู้ค้าน้ำมัน เช่น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) www.pttplc.com สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย http://www.ptit.org/oilbusiness/knowledge/knowledge09.html หรือเว็บไซด์ของกรมควบคุมมลพิษ เรื่อง อันตรายจากน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้ว http://www.pcd.go.th/info_serv/haz_lubri.html
Q14: ต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการซากรถยนต์ และสถานการณ์ของของเสียประเภทรถยนต์ที่ไม่สามารถใช้งานได้แล้วในประเทศไทย
A14: จากการสอบถามข้อมูลไปยังกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง ส่วนมลพิษจากยานพาหนะ กรมควบคุมมลพิษ และฝ่ายสถิติ กรมการขนส่งทางบก แจ้งว่า ขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดในประเทศไทย ดำเนินการจัดการเกี่ยวกับซากรถยนต์ และรวบรวมสถานการณ์ของของเสียประเภทรถยนต์ไว้ แต่ถ้าหากต้องการทราบถึงปริมาณของรถยนต์ที่จดทะเบียนในประเทศ และจำนวนรถยนต์ที่แจ้งเลิกใช้งานตลอดไป (ซึ่งจำนวนรถที่แจ้งยกเลิกใช้ อาจนำมาคาดการณ์ได้ว่าเป็นรถยนต์ที่เสื่อมสภาพไม่สามารถใช้การได้แล้ว)สามารถหาข้อมูลได้จาก กรมการขนส่งทางบก ฝ่ายสถิติ โทร. 02 2723625 www.dlt.go.th/statistics_web/tax_3_8/bangkok/whole.xls 
Q15: ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดการยางรถยนต์ที่ใช้แล้วอย่างถูกวิธี
A15: การจัดการยางรถยนต์ที่ใช้แล้ว การจัดการยางรถยนต์ที่ใช้แล้วสามารถนำไปใช้ทดแทนเชื้อเพลิงหรือเผาทำลายในเตาเผาอุณหภูมิสูง โดยมีบริษัทที่สามารถรับดำเนินการ ดังนี้

  1. บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด โทร. 0 2586 5310 , 0 2586 5979
  2. บริษัท ปูนซิเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) โทร. 0 3635 7155
Q16: การจัดตั้งโรงงานขนาดเครื่องจักรไม่เกิน 50 แรงม้า โดยนำของเสียอันตรายมาแปรรูปจะต้องขออนุญาตจากหน่วยงานใด หากมีการรับซื้อการสารเคมี การบำบัดของเสียอันตราย หรือนำสารระเหยและกากที่แปรรูปไปจำหน่ายจะต้องขออนุญาต หรือขึ้นทะเบียนหรือไม่
A16: ในการจัดตั้งโรงงานจะต้องดำเนินการขออนุญาตประกอบกิจการจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 ซึ่งจะกำหนดประเภท ชนิด และขนาดที่ตั้งของโรงงาน ในการขออนุญาตขึ้นทะเบียนจัดตั้งโรงงานเพื่อนำของเสียมาแปรรูป ผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบวิธีหรือข้อกำหนดสำหรับการดำเนินกิจการได้จาก กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานโรงงานอุตสาหกรรมรายสาขา 6 ส่วนการอนุญาตโรงงาน โทร.02-202-4168 หรือสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดในเขตพื้นที่ของท่านสำหรับการขออนุญาตบำบัดหรือกำจัดของเสียอันตรายภายในประเทศ ผู้ประกอบการจะต้อง ขออนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม/สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และปฏิบัติตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ.2548 โดยสามารถติดต่อได้ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานโรงงานอุตสาหกรรมรายสาขา 6 ส่วนการจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว โทร. 02-202-4167-8 หรือตรวจสอบข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ ได้จาก http://www2.diw.go.th/iwmb/ 
Q17: การข้อมูลในการขอใบอนุญาต ประกอบกิจการโรงงานคัดแยก/รีไซเคิล และการขนย้ายของเสียอุตสาหกรรม
A17: ในการขออนุญาตประกอบกิจการเป็นโรงงานคัดแยก/รีไซเคิลของเสียอุตสาหกรรม จะต้อง
ขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานประเภท 105 และปฏิบัติตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง หลักเกณ์การพิจารณาอนุญาตประเภทหรือชนิดของโรงงาน ลำดับที่ 105 และลำดับที่ 106 ผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบวิธีหรือข้อกำหนดสำหรับการดำเนินกิจการได้จาก กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานโรงงานอุตสาหกรรมรายสาขา 6 ส่วนการอนุญาตโรงงาน โทร.0 2202 4167-8 หรือสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงาน หรือตรวจสอบรายละเอียดตาม link ต่อไปนี้ www.diw.go.th/diw/m2_index.html การขออนุญาตเป็นผู้ขนย้ายของเสียอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการจะต้องขออนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมและปฏิบัติตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ.2548 และประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ระบบเอกสารกำกับการขนส่งของเสียอันตราย พ.ศ.2547 (ในกรณีที่มีการขนย้ายของเสียอันตราย) ตาม link ต่อไปนี้ www.diw.go.th/diw/m2_index.html หรือตรวจสอบข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ ได้ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานโรงงานอุตสาหกรรมรายสาขา 6 โทร. 0 2202 4167-8 หรือ http://www2.diw.go.th/iwmb/ 
Q18: อยากทราบถึงปริมาณสารตกค้างในดินที่เป็นที่ยอมรับได้ของสาร DDT, Dieldrin และ Heptachlor
A18: ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 25 (พ.ศ. 2547) ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เรื่อง กำหนดมาตรฐานคุณภาพดิน ตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 121 ตอนพิเศษ 119 ง ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2547 กำหนดมาตรฐานดินแยกตามการใช้ประโยชน์ที่ดิน ได้ 2 ประเภท ดังนี้

  • มาตรฐานคุณภาพดินที่ใช้ประโยชน์เพื่อการอยู่อาศัยและเกษตรกรรม ต้องมีสารอันตรายที่สอบถามมาไม่เกินค่าต่อไปนี้

DDT ไม่เกิน 17 mg/kg
Dieldrin ไม่เกิน 0.3 mg/kg
Heptachor ไม่เกิน 1.1 mg/kg

  • มาตรฐานคุณภาพดินที่ใช้ประโยชน์เพื่อการอื่นนอกเหนือจาก การอยู่อาศัยและเกษตรกรรม ต้องมีสารอันตรายที่สอบถามมาไม่เกินค่าต่อไปนี้

DDT ไม่เกิน 120 mg/kg
Dieldrin ไม่เกิน 1.5 mg/kg
Heptachor ไม่เกิน 5.5 mg/kg

ทั้งนี้การตรวจสอบการปนเปื้อนของสารดังกล่าวในดิน ต้องดำเนินการด้วยวิธี Gas Chromatography หรือ Gas Chromatography / Mass Spectrophotometer หรือวิธีอื่นที่กรมควบคุมมลพิษเห็นชอบ โดยวิธีการเก็บและรักษาตัวอย่างดินให้เป็นไปตามที่กำหนดดังนี้

วิธีการรักษาตัวอย่าง
สารที่จะวิเคราะห์และตรวจสอบ
(Parameter)
ภาชนะบรรจุ
(Container)
การเก็บรักษา
(Preservative)
ระยะเวลาที่เก็บไว้ได้
(Holding Time)
สารอินทรีย์ระเหยง่าย
แก้ว
แช่เย็นที่ 4o – 2 o C
14 วัน
โลหะหนัก (ยกเว้น
โครเมียมชนิดเฮ็กซาวาเลนท์
และปรอทและสารประกอบปรอท)
พลาสติกหรือแก้ว
แช่เย็นที่ 4o – 2 o C
180 วัน
โครเมียมชนิดเฮ็กซาวาเลนท์
พลาสติกหรือแก้ว
แช่เย็นที่ 4o – 2 o C
30 วัน ก่อนทำการเตรียมตัวอย่าง
4 วัน หลังทำการเตรียมตัวอย่าง
ปรอทและสารประกอบปรอท
พลาสติกหรือแก้ว
แช่เย็นที่ 4o – 2 o C
28 วัน
สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์
แก้ว
แช่เย็นที่ 4o – 2 o C
14 วัน ก่อนทำการเตรียมตัวอย่าง
40 วัน หลังทำการเตรียมตัวอย่าง
เบนโซ (เอ) ไพรีน
แก้ว
แช่เย็นที่ 4o – 2 o C
14 วัน ก่อนทำการเตรียมตัวอย่าง
40 วัน หลังทำการเตรียมตัวอย่าง
ไซยาไนด์และสารประกอบไซยาไนด์
พลาสติกหรือแก้ว
แช่เย็นที่ 4o – 2 o C
14 วัน ก่อนทำการเตรียมตัวอย่าง
40 วัน หลังทำการเตรียมตัวอย่าง
พีซีบี
แก้ว
แช่เย็นที่ 4o – 2 o C
14 วัน ก่อนทำการเตรียมตัวอย่าง
40 วัน หลังทำการเตรียมตัวอย่าง
ไวนิลคลอไรด์
แก้ว
แช่เย็นที่ 4o – 2 o C
14 วัน

ท่านสามารถศึกษาเกี่ยวกับมาตรฐานคุณภาพดินเพิ่มเติมไว้ที่เว็บลิงค์ของกรมควบคุมมลพิษที่ http://www.pcd.go.th/info_serv/reg_std_soil01.html 

Q19: รายละเอียดของน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้ว ด้านโครงสร้างทางเคมี องค์ประกอบ ความเป็นพิษ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
A19:1.ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 25 (พ.ศ. 2547) ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เรื่อง กำหนดมาตรฐานคุณภาพดิน ตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 121 ตอนพิเศษ 119 ง ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2547

– กำหนดมาตรฐานคุณภาพดินที่ใช้ประโยชน์เพื่อการอยู่อาศัยและเกษตรกรรม ต้องมีพีซีบี (PCBs) ไม่เกิน 2.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

– กำหนดมาตรฐานคุณภาพดินที่ใช้ประโยชน์เพื่อการอื่นนอกเหนือจาก การอยู่อาศัยและเกษตรกรรม ต้องมีพีซีบี (PCBs) ไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

– โดยวิธีการตรวจวัดให้ใช้วิธี Gas Chromatography หรือวิธีอื่นที่กรมควบคุมมลพิษเห็นชอบ

2.ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 20 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เรื่อง กำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำใต้ดิน ตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 117 ตอนพิเศษ 95 ง ลงวันที่ 15 กันยายน 2543

– กำหนดว่าพีซีบี (PCBs) ต้องไม่เกิน 0.5 ไมโครกรัม/ลิตร

– โดยวิธีการตรวจวัดให้ใช้วิธี Liquid – Liquid Extraction Gas Chromatography (Method II) หรือวิธีอื่นที่กรมควบคุมมลพิษเห็นชอบ

Q20: กรณีเป็นโรงงานอุตสาหกรรม จะสามารถเข้าร่วมโครงการเรียกคืนซากหลอดฟลูออเรสเซนต์ได้หรือไม่ และต้องดำเนินการอย่างไร
A20: กรณีเป็นโรงงานอุตสาหกรรม ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ เนื่องจากติดปัญหาในเรื่องของข้อกฎหมาย แต่โรงงานสามารถติดต่อบริษัทผู้รับดำเนินการกำจัด/บำบัดของเสียอันตราย เพื่อนำซากหลอดฟลูออเรสเซนต์ไปจัดการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการได้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนของเสียอันตราย กรมควบคุมมลพิษ โทร. 0 2298 2435-8 หรือตรวจสอบรายชื่อผู้รับดำเนินการจัดการของเสียอันตรายได้ที่ http://www2.diw.go.th/iwmb/ 
Q21: การถ่ายเทขยะมูลฝอย (Unloading) ลงสู่บ่อฝังกลบ
A21:
ในปัจจุบันปัญหาที่พบได้บ่อยครั้งในพื้นที่กำจัดขยะมูลฝอย คือ ปัญหาการถ่ายเทขยะมูลฝอยจากรถเก็บขนขยะมูลฝอยสู่พื้นที่กำจัดขยะ
มูลฝอย โดอยพบว่า ไม่มีการกำหนดพื้นที่ชัดเจร อีกทั้งไม่มีการควบคุมพนักงานขับรถเก็บขนขยะมูลฝอยให้ขนถ่ายขยะมูลฝอยให้ตรงจุด
กำจัด ซึ่งบางครั้งถ่ายเทลงบริเวณถนนทางเข้า ทำให้ขยะมูลฝอยกระจัดกระจายทั่วบริเวณก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา… รายละเอียด 
Q22: การฝังกลบรายวันที่ไม่มีประสิทธิภาพ
A22:
การฝังกลบเป็นงานหลักของการกำจัดขยะมูลฝอย ซึ่งการฝังกลบมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความถี่ในการฝังกลบ สถานที่
กำจัดขยะมูลฝอยที่ดีจะมีการฝังกลบขยะมูลฝอยเป็นประจำทุกวัน เพื่อป้องกันน้ำฝนไหลเข้าสู่บ่อกลบ และลดการซึมผ่านของน้ำชะมูลฝอย
ในเซลล์ขยะที่ฝังกลบ นอกจากนี้การฝังกลบรายวัน จะช่วยลดปัญหาต่างๆ… รายละเอียด 
Q23: การเลือกเครื่องจักรกลไม่เหมาะสมกับงาน
A23: การเลือกใช้เครื่องจักรกลไม่เหมาะสมกับงาน หรือใช้ผิดวิธีอาจก่อให้เกิดผลเสียต่างๆ เช่น ทำให้งานฝังกลบล่าช้าและไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดอุบัติเหตุจากการใช้งานผิดประเภท เป็นต้น การเลือกใช้เครื่องจักรสำหรับการดำเนินการฝังกลบขยะมูลฝอยอาจต้องใช้เครื่องจักรมากกว่า 1 ชนิด ขึ้นอยู่กับปริมาณขยะมูลฝอยที่ต้องกำจัดในแต่ละวัน และขนาดพื้นที่ดำเนินงาน ซึ่งมีวิธีการพิจารณาคัดเลือกเครื่องจักรที่ใช้ในสถานที่ฝังกลบ… รายละเอียด 
Q24: การฝังกลบในฤดูฝน
A24: การฝังกลบในช่วงฤดูฝนมักจะเกิดจากปริมาณน้ำฝนจำนวนมากที่ตกภายในพื้นที่ หากระบายออกไม่ทันทำให้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ฝังกลบ น้ำฝนจะปะปนกับน้ำชะมูลฝอยทำให้ยากต่อการบดอัดและฝังกลบ และอาจส่งให้น้ำชะมูลฝอยไหลออกนอกพื้นที่ ซึ่งมีแนวทาง
แก้ไขปัญหา…รายละเอียด 
Q25: การฝังกลบในที่ลาดชัน
A25: กรณีการฝังกลบในพื้นที่ลาดชันอาจเกิดปัญหาฝังกลบ การบดอัด และการรวบรวมน้ำชะมูลฝอยที่ไม่มีประสิทธิภาพ …รายละเอียด 
Q26: พื้นที่ฝังกลบใกล้เต็ม
A26: กรณีพื้นที่ฝังกลบใกล้เต็มทำให้การฝังกลบไม่มีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดปัญหา เช่น พื้นที่เต็มเร็วกว่าที่กำหนดไม่สามารถนำขยะมูลฝอยมากำจัดได้ รวมทั้งปัญหากองขยะในบ่อฝังกลบยุบตัว ดังนั้นบ่อฝังกลบที่ใกล้เต็มพื้นที่ควรมีการติดตามประเมินผลอย่างใกล้ชิด… รายละเอียด 
Q27: ระบบรวบรวมน้ำชะมูลฝอยล้มเหลว
A27: เนื่องจากมีการอุดตันหรือชำรุดแตกหัก ซึ่งมีปัญหาเหล่านี้เกิดจากมีขยะมูลฝอยหลุดเข้าไปในท่อรวบรวมน้ำชะมูลฝอย และเข้าไปอุดตันระบบท่อทำให้น้ำชะมูลฝอยค้างอยู่ในระบบท่อเป็นเวลานาน ไม่สามารถถ่ายเทน้ำชะมูลฝอยได้ ซึ่งมีแนวทางแก้ไขปัญหา… รายละเอียด 
Q28: น้ำชะมูลฝอยจากบ่อบ่อฝังกลบปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำผิวดิน
A28: การปนเปื้อนแหล่งน้ำผิวดิน และการปนเปื้อนน้ำใต้ดิน ทำให้ไม่สามารถนำน้ำมาใช้อุปโภค สัตว์น้ำในแหล่งน้ำที่มีการปนเปื้อนจะได้รับสารพิษ หากประชาชนนำไปบริโภคอาจก่อให้ก่ออันตรายได้ปัญหาที่เกิดการร้องเรียนจากบ่อยครั้ง…รายละเอียด 
Q29: น้ำชะมูลฝอยจากบ่อบ่อฝังกลบปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำใต้ดิน
A29: เป็นปัญหาหนึ่งที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์ เนื่องจากแหล่งน้ำใต้ดินใช้ในการอุปโภค หากเกิดการปนเปื้อนก่อให้เกิดผล
กระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม… รายละเอียด 
Q30: น้ำจากภายนอกระบบเข้าสู่พื้นที่ฝังกลบขยะมูลฝอย
A30: น้ำจากภายนอกระบบที่เข้าสู่พื้นที่ฝังกลบส่วนใหญ่จะเป็นน้ำฝนที่ตกตามธรรมชาติ และน้ำจากแหล่งน้ำผิวดินบริเวณใกล้เคียงที่ท่วมและไหลบ่าเข้าสู่พื้นที่ ซึ่งจะเกิดปัญหาต่อการบริหารจัดการระบบฝังกลบขยะมูลฝอย… รายละเอียด 
Q31: ปัญหาพบบ่อยในบ่อบำบัดน้ำชะมูลฝอย
A31: บ่อบำบัดน้ำชะมูลฝอยส่วนใหญ่จะเป็นระบบบ่อผึ้งอยู่ติดกับสถานที่ฝังกลบขยะมูลฝอยปูพื้นบ่อและด้านขอบบ่อด้วยแผ่นพลาสติก
HDPE เพื่อป้องกันการซึมของน้ำเสียลงสู่ใต้ดิน ปัญหาที่พบมาก… รายละเอียด 
Q32: การติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำใต้ดิน
A32: ระบบการเฝ้าระวังน้ำใต้ดินจึงมีขึ้นเพื่อเฝ้าระวังหรือติดตามตรวจสอบปัญหาที่อาจเกิดการปนเปื้อนจากน้ำชะมูลฝอยของสถานที่ฝัง
กลบลงสู่แหล่งน้ำใต้ดิน นอกจากจะมีระบบติดตามตรวจสอบแล้วควรดูแลให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ…รายละเอียด 
Q33: ก๊าซจากบ่อฝังกลบขยะมูลฝอย
A33: ก๊าซที่เกิดจากการฝังกลบมีหลายชนิด เช่น CH4 NH3 CO2 H2S N2 และ O2 เป็นต้น ส่วนใหญ่เกิดจากขบวนการย่อยสลายสารอินทรีย์ของขยะมูลฝอยในสถานที่ฝังกลบขยะมูลฝอย…รายละเอียด 
Q34: ผลกระทบจากกลิ่นและแมลง
A34: เหตุเดือดร้อนรำคาญจากกลิ่นรบกวนและแมลงวัน เป็นปัญหาที่ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนที่อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียงบ่อฝังกลบขยะมูลฝอยมากที่สุด ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นจากการกำจัดขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกต้อง… รายละเอียด 
Q35: ฝุ่นละอองและเศษขยะมูลฝอยตกหล่นระหว่างการขนส่ง
A35: เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้อาศัยรอบบริเวณพื้นที่ฝังกลบ ซึ่งสภาพปัญหาส่วนใหญ่ที่พบ ได้แก่ มีขยะมูลฝอยปลิวตกระหว่างการขนส่ง น้ำชะมูลฝอยไหลตามเส้นทางที่รถเก็บขนขยะมูลฝอยวิ่งผ่าน รวมทั้งฝุ่นและดินเลนที่ติดมากับล้อของรถเก็บขนขยะมูลฝอย…รายละเอียด 
Q36: ผลกระทบจากเสียง
A36: การดำเนินการในสถานที่ฝังกลบ ต้องใช้เครื่องจักรกลขนาดใหญ่ เช่น รถบดอัด รถไถดัน เป็นต้น ซึ่งการทำงานเครื่องจักรกลขนาดใหญ่จะเกิดเสียงดังในขณะทำงาน อาจก่อให้เกิดผลกระทบทางเสียงกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณรอบๆ พื้นที่ได้ ซึ่งมีแนวทางแก้ไขปัญหา…รายละเอียด 
Q37: ไฟไหม้ในบ่อฝังกลบ
A37: ในบริเวณฝังกลบมักเกิดเหตุไฟไฟหม้ได้ง่าน เนื่องจากบ่อยครั้งที่มีคนทิ้งวัตถุที่ยังติดไฟอยู่มากับขยะมูลฝอยด้วย เช่น ก้นบุหรี่ เศษถ่านจากการย่าง เป็นต้น รวมทั้งบริเวณพื้นที่ดังกล่าวมีก๊าซมีเทน ซึ่งติดไฟได้ง่ายจึงเกิดการคุกรุ่นจนเกิดควันไฟขึ้น การป้องกันปัญหาไฟไหม้… รายละเอียด 
Q38: บุคลากร เครื่องจักร และอุปกรณ์ไม่เพียงพอ
A38: ปัญหาบุคลากร เครื่องจักร และอุปกรณ์ไม่เพียงพอเป็นอีกปัญหาที่มีความสำคัญ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยในด้านการบริหารจัดการระบบฝังกลบขยะมูลฝอย โดยปัญหาที่พบส่วนใหญ่…รายละเอียด 
Q39: การขาดแคลนงบประมาณ
A39: ปัญหาในด้านงบประมาณและการคลัง สำหรับการจัดการขยะมูลฝอยในสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย ได้แก่ การขาดแหล่งเงินทุน ซึ่งจำเป็นต้องหาแหล่งเงินทุน กับการเพิ่มรายได้จากการให้บริการ โดยผู้บริหารจะต้องกำหนดนโยบายให้ชัดเจน…รายละเอียด 
Q40: ความปลอดภัยในการปฏิบัติงานบนพื้นที่ฝังกลบ
A40: การปฏิบัติงานในพื้นที่ฝังกลบขยะมูลฝอยจะต้องมีการดำเนินงานในพื้นที่หลายขั้นตอน เช่น การขนถ่ายขยะมูลฝอยเข้าพื้นที่ การคัดแยกขยะมูลฝอย การบดอัดและฝังกลบขยะมูลฝอย ฯลฯ ซึ่งในแต่ละขั้นตอนอาจเกิดอุบัติเหตุและส่งผลต่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน.. รายละเอียด 

Skip to content