pcd.go.th
ขนาดอักษร |
Q1: เจ้าพนักงานควบคุมมลพิษตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มีอำนาจหน้าที่อย่างไรบ้าง

A1: 1. กำหนดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษที่ต้องถูกควบคุมการปล่อยมลพิษติดตั้งหรือจัดให้มีระบบ เครื่องมืออุปกรณ์ สำหรับควบคุมมลพิษ และเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษจะกำหนดให้มีผู้ควบคุมการดำเนินงานระบบหรือเครื่องมืออุปกรณ์ด้วยก็ได้

2. ให้คำแนะนำแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นในการวางหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขสำหรับให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษจัดส่งน้ำเสียหรือของเสียจากแหล่งกำเนิดมลพิษของตนไปให้ผู้รับจ้างให้บริการทำการบำบัดหรือกำจัด

3. ให้คำแนะนำแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นในการกำหนดวิธีการชั่วคราว สำหรับการบำบัดน้ำเสียหรือกำจัดของเสียจากแหล่งกำเนิดมลพิษต่าง ๆ ที่มิได้มีระบบบำบัดน้ำเสียหรือระบบกำจัดของเสียเป็นของตนเอง ได้ตามที่จำเป็นจนกว่าจะได้มีระบบบำบัดน้ำเสียรวมหรือระบบกำจัดของเสียรวม

4. รับรายงานสรุปผลการทำงานของระบบ หรืออุปกรณ์และเครื่องมือ สำหรับควบคุมการปล่อยมลพิษจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น

5. เข้าไปในอาคาร สถานที่และเขตที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมหรือ แหล่งกำเนิดมลพิษหรือเขตที่ตั้งของระบบบำบัดน้ำเสียหรือระบบกำจัดของเสียของบุคคลใด ๆ เพื่อตรวจสภาพการทำงานของระบบหรืออุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ รวมทั้งตรวจบันทึกรายละเอียด สถิติ หรือข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของระบบหรืออุปกรณ์และเครื่องมือดังกล่าว หรือเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535

6. ออกคำสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครอง ผู้ควบคุม หรือผู้ได้ รับใบอนุญาตรับจ้างให้บริการ จัดการแก้ไข เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง หรือซ่อมแซมระบบหรืออุปกรณ์และเครื่องมือ แต่ถ้าแหล่งกำเนิดมลพิษนั้นเป็นโรงงานอุตสาหกรรม เจ้าพนักงานควบคุมมลพิษต้องแจ้งเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานดำเนินการต่อไป

7. ออกคำสั่งเป็นหนังสือสั่งปรับเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิด มลพิษตามมาตรา 90 มาตรา 91 หรือมาตรา 92 ในกรณีแหล่งกำเนิดมลพิษนั้นเป็นโรงงานอุตสาหกรรม เจ้าพนักงานควบคุมมลพิษต้องมีหนังสือแจ้งไปยังเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานให้ออกคำสั่งปรับต่อไป

8. ออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ได้รับใบอนุญาตรับจ้างให้บริการหยุดหรือ ปิดการดำเนินกิจการ9. ออกคำสั่งเป็นหนังสือเพิกถอนการเป็นผู้ควบคุมประสานการปฏิบัติราชการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

Q2:พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มีอำนาจหน้าที่อย่างไรบ้าง

A2: 1. ออกคำสั่งห้ามใช้ยานพาหนะที่ก่อให้เกิดมลพิษเกินกว่ามาตรฐาน ควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด

2. สั่งให้ยานพาหนะหยุดเพื่อตรวจสอบหรือเข้าไปในยานพาหนะหรือกระทำการใด ๆ ที่จำเป็นเพื่อตรวจสอบเครื่องยนต์และอุปกรณ์ของยานพาหนะ

Q3:กรมควบคุมมลพิษมีอำนาจหน้าที่ออกใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 หรือไม่ อย่างไร

A3: กรมควบคุมมลพิษไม่มีอำนาจหน้าที่ออกใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 รวมทั้งไม่มีอำนาจหน้าที่ออกใบอนุญาตตามกฎหมายอื่น ๆ ด้วย

Q4:แหล่งกำเนิดมลพิษตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ที่ต้องถูกควบคุมการปล่อยมลพิษให้เป็นไปตามมาตรฐานควบคุมมลพิษมีอะไรบ้าง

A4:

1. รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์
2. เรือตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทย
3. อาคารชุดที่มีจำนวนห้องสำหรับใช้เป็นที่อยู่อาศัยรวมกันทุกชั้นของอาคารหรือกลุ่มของอาคารตั้งแต่ 500 ห้องนอนขึ้นไป
4. โรงแรมที่มีจำนวนห้องสำหรับใช้เป็นห้องพักรวมกันทุกชั้นของอาคาร.หรือกลุ่มของอาคารตั้งแต่ 200 ห้องนอนขึ้นไป
5. สถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลที่มีเตียงสำหรับผู้ป่วยไว้ค้างคืนรวมกันทุกชั้นของอาคารหรือกลุ่มของอาคารตั้งแต่ 30 เตียงขึ้นไป
6. อาคารโรงเรียนราษฎร์หรือสถาบันอุดมศึกษาของเอกชนที่มีพื้นที่ใช้สอยรวมกันทุกชั้นของอาคารหรือกลุ่มของอาคารตั้งแต่ 25,000 ตารางเมตรขึ้นไป
7. อาคารที่ทำการขององค์การระหว่างประเทศหรือของเอกชนที่มีพื้นที่ใช้สอยรวมกันทุกชั้นของอาคารหรือกลุ่มของอาคารตั้งแต่ 55,000 ตารางเมตรขึ้นไป
8. อาคารของศูนย์การค้าหรือห้างสรรพสินค้าที่มีพื้นที่ใช้สอยรวมกันทุกชั้นของอาคารหรือกลุ่มของอาคารตั้งแต่ 25,000 ตารางเมตรขึ้นไป
9. ตลาดที่มีพื้นที่ใช้สอยรวมกันทุกชั้นของอาคารหรือกลุ่มของอาคารตั้งแต่ 2,500 ตารางเมตรขึ้นไป
10. ภัตตาคารหรือร้านอาหารที่มีพื้นที่ใช้บริการรวมกันทุกชั้นของอาคารหรือกลุ่มของอาคารตั้งแต่ 2,500 ตารางเมตรขึ้นไป
11. โรงไฟฟ้า , โรงไฟฟ้าแม่เมาะ, โรงไฟฟ้าเก่า
12. โรงงานอุตสาหกรรม (โรงงานจำพวกที่ 2 และที่ 3) และนิคมอุตสาหกรรม
13. ที่ดินจัดสรร
14. เหมืองหิน
15. โรงโม่ บด หรือย่อยหิน
16. เตาเผามูลฝอย
17. การเลี้ยงสุกร
18. สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง
19. รถยนต์สามล้อใช้งาน
20. โรงงานเหล็ก
21. เตาเผาศพ
22. เตาเผามูลฝอยติดเชื้อ

Q5:ผู้ที่ประสงค์จะเป็นผู้ควบคุมหรือรับจ้างให้บริการบำบัดน้ำเสียหรือกำจัดของเสียจะต้องดำเนินการอย่างไร
A5: ผู้ที่ประสงค์จะเป็นผู้ควบคุมหรือรับจ้างให้บริการบำบัดน้ำเสีย หรือกำจัดของเสียต้องขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ควบคุมหรือใบอนุญาตเป็นผู้รับจ้างให้บริการจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการอนุญาตเป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งขณะนี้การออกกฎกระทรวงดังกล่าวกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาให้ความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
Q6:กฎหมายเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ออกมาใหม่หรือไม่
A6: ในปี 2549 กฎหมายเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ในระดับพระราชบัญญัติยังไม่มีฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันคือพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มีกฎหมายในระดับประกาศที่ออกในปี 2549 โดยกรมควบคุมมลพิษหลายฉบับ สามารถดูรายละเอียด คลิกที่นี่
Q7:ได้ยินว่าโรงงานอุตสาหกรรมปัจจุบันมีเจ้าพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ควบคุมมลพิษประจำโรงงานด้วย ไม่ทราบว่านี่เป็นโดยภาคบังคับตามกฏหมายหรือโดยความสมัครใจ
และเจ้าหน้าที่ที่ว่าต้องมีคุณสมบัติอย่างไรคะ
A7: โรงงานอุตสาหกรรมปัจจุบันมีบุคลากรด้านสิ่งแวดล้อมประจำโรงงานและ ผู้ควบคุมดูแลระบบป้องกันสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ซึ่งกำหนดโดยประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การกำหนดชนิดและขนาดของโรงงาน กำหนดวิธีการควบคุมการปล่อยของเสียมลพิษหรือ สิ่งใดๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กำหนดคุณสมบัติของผู้ควบคุมดูแลปฎิบัติงานประจำ และหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนผู้ควบคุมดูแลสำหรับระบบป้องกันสิ่งแวดล้อมเป็น พ.ศ. 2545 ส่วนคุณสมบัติของบุคลากรด้านสิ่งแวดล้อม ประจำโรงงานนั้น เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม กำหนดซึ่งท่านสามารถสอบถามได้จากเจ้าหน้าที่ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม
Q8:อยากจะสอบถามเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวกับการรับซื้อหรือขายวัสดุที่นำกลับคืน (รีไซเคิล)
ของโรงงานที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ว่าผู้รับซื้อจะต้องมีใบอนุญาตอะไรบ้าง
ในการประกอบการซื้อและต้องขออนุญาตหน่วยงานที่ไหน
A8: ขอเรียนตอบตามคำถามของท่าน ดังนี้

  1. โรงงานของท่านเป็นโรงงานรีไซเคิล ลำดับที่ 106 ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 15 ออกตามความใน พรบ.โรงงาน พ.ศ.2535 ซึ่งจะต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการกับกรมโรงงาน หรืออุตสาหกรรมจังหวัดขึ้นอยู่กับสถานที่ก่อตั้ง
  2. ในกรณีที่โรงงานจะต้องซื้อวัสดุที่จะนำมารีไซเคิล ซึ่งต้องมีการซื้อวัสดุมาเก็บไว้จะเข้าข่ายการประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตาม พรบ.สาธารณสุข พ.ศ.2535 ท่านต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
    ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ท่านดำเนินการนั้น
  3. การขายวัสดุรีไซเคิลถือเป็นการประกอบกิจการของโรงงานอยู่แล้วซึ่งเป็นไปตามใบอนุญาตตามข้อ 1 ไม่ต้องขอใบอนุญาตเพิ่มเติม นอกจากนี้ จะต้องพิจารณาเพิ่มเติมด้วยว่า หากโรงงานของท่านมีการนำวัสดุที่มีสารปนเปื้อนอยู่ด้วย เช่น สารกัมมันตภาพรังสี ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ท่านก็ต้องขออนุญาตต่อหน่วยงานดังกล่าวตามกฎหมายเฉพาะด้วย
Q9:อยากทราบข้อบังคับและมาตรการของ EU ในด้านการควบคุมวัสดุในการผลิตบรรจุภัณฑ์ของสินค้านำเข้าสินค้าจากประเทศไทย(OTOP)
A9: ข้อบังคับและมาตรการของ EU ในด้านการควบคุมวัสดุในการผลิตบรรจุภัณฑ์ของสินค้านำเข้าสินค้าจากประเทศไทย(OTOP) จะต้องมีการออกกฎหมายรองรับในประเทศด้วยซึ่งในขณะนี้ยังไม่มี มีเพียงการควบคุมวัสดุที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ตาม weee หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมขอให้ติดต่อยัง สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้าน EU โดยตรง

Skip to content