pcd.go.th
ขนาดอักษร |
สรุปสถานการณ์สารอินทรีย์ระเหยง่ายในบรรยากาศ (VOCs) ปี 2560

ในปี พ.ศ.2560 กรมควบคุมมลพิษ มีการตรวจวัดสารอินทรีย์ระเหยง่ายในบรรยากาศ (Volatile Organic Compounds:VOCs)ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดปทุมธานี จังหวัดระยอง จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดสงขลา จังหวัดอ่างทองและจังหวัดขอนแก่น เพื่อติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์สารอินทรีย์ระเหยง่ายในบรรยากาศจำนวน 9 ชนิด ตามที่ได้กำหนดไว้เป็นมาตรฐานค่าสารอินทรีย์ระเหยง่ายในบรรยากาศโดยทั่วไปในเวลา1 ปี (ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 30 (พ.ศ.2550) ลงวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2550 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนพิเศษ 143 ง วันที่ 28 กันยายน 2550)

สถานการณ์ในภาพรวมของประเทศไทยสำหรับปี 2560 พบสารเบนซีน 1,3-บิวทาไดอีน 1,2 ไดคลอโรอีเธน และคลอโรฟอร์ม มีค่าสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานในบางพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ริมถนน และพื้นที่รอบอุตสาหกรรม สำหรับผลการติดตามตรวจวัดสถานการณ์ สารเบนซีนมีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานในพื้นที่ทั่วไปบริเวณจุดตรวจวัดในจังหวัดปทุมธานี เชียงใหม่ สงขลา ขอนแก่น และอ่างทอง สำหรับสาร 1,3-บิวทาไดอีน 1,2 ไดคลอโรอีเธน ปัจจุบันยังเป็นปัญหาในเฉพาะพื้นที่จังหวัดระยอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณจุดตรวจวัดใกล้แหล่งกำเนิดอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังตรวจพบปริมาณสารคลอโรฟอร์มในบางพื้นที่ ซึ่งคาดว่ามีสาเหตุมาจากแหล่งกำเนิด ในพื้นที่เฉพาะบางช่วงเวลาเท่านั้น รายละเอียดแสดงดังตารางเปรียบเทียบค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เฉลี่ยรายปีกับค่ามาตรฐานเฉลี่ยรายปีของสารอินทรีย์ระเหยง่าย 9 ชนิด

สารอินทรีย์ระเหยง่ายมีแหล่งกำเนิดหลากหลาย ดังนั้น การวิเคราะห์หาสาเหตุต้องจำแนก ตามลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินของบริเวณพื้นที่จุดตรวจวัด โดยแบ่งเป็น พื้นที่ทั่วไปหรือบริเวณที่อยู่อาศัยในเมืองหลัก พื้นที่ริมถนนซึ่งมีการจราจรหนาแน่น และพื้นที่ชุมชนรอบอุตสาหกรรม ซึ่งในภาพรวมพบว่า ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา ปริมาณเบนซีน และ 1,3 บิวทาไดอีน ในบรรยากาศบริเวณพื้นที่ริมถนน ซึ่งมีการจราจรหนาแน่นเขตกรุงเทพฯ มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องซึ่งสะท้อนให้เห็น ถึงความสำเร็จในการกำหนดมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นในการควบคุมการระบาย สารอินทรีย์ระเหยง่ายจากภาคคมนาคมขนส่ง รวมทั้ง การพัฒนาเทคโนโลยีสะอาดสำหรับยานพาหนะ การปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง อย่างไรก็ตาม ข้อมูลผลการตรวจปริมาณสารเบนซีนในบรรยากาศ ยังแสดงให้เห็นว่า นอกจากการจัดทำมาตรการเพื่อควบคุมการระบายสารเบนซีนจากแหล่งกำเนิดอุตสาหกรรมแล้ว ยังมีความจำเป็นที่ต้องดำเนินมาตรการเพื่อควบคุมการระบายมลพิษอากาศจากภาคคมนาคมขนส่ง และการจราจรโดยเฉพาะในเขตพื้นที่ริมถนนบริเวณเมืองหลักอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง

 

ในปี พ.ศ. 2560 ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กำหนดค่ามาตรฐานก๊าซคาร์บอนไดซัลไฟด์ในบรรยากาศ ค่าเฉลี่ยในเวลา 24 ชั่วโมง สำหรับประเทศไทย ไม่เกิน 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามที่ กรมควบคุมมลพิษ ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่เสนอแนะ การกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม เสนอเพื่อให้มีความเหมาะสม ตามความก้าวหน้าในทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และความเปลี่ยนแปลงในทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดย สารคาร์บอนไดซัลไฟด์ (Carbon disulfide; CS2) มีสถานะเป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้อง จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่สอง CAS Number 75 – 15 – 0 น้ำหนักโมเลกุล 76.14) มีลักษณะเป็นของเหลวใส ถ้าบริสุทธิ์จะมีกลิ่นหอม ส่วนใหญ่ที่ใช้ในอุตสาหกรรม จะเป็นของเหลวสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นเหม็น ระเหยได้ง่ายที่อุณหภูมิห้อง มีความไวไฟสูง และระเบิดได้ มีคุณสมบัติในการละลายไขมันได้ดี ละลายน้ำได้น้อย ไอระเหยของ CS2 หนักกว่าอากาศมากกว่า 2 เท่า และครึ่งชีวิต (half – life) ประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ เมื่อถูกปล่อยออกสู่บรรยากาศ โดยเฉพาะที่สภาวะอากาศนิ่ง จะลอยต่ำใกล้พื้น ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงที่ประชากรทั่วไปจะสูดเข้าไป แหล่งกำเนิดหลัก ที่ปลดปล่อยก๊าซ CS2 ออกสู่บรรยากาศ คือ อุตสาหกรรมผลิตเส้นใยเรยอน (viscose plant) อุตสาหกรรมดังกล่าว มีการใช้สารเหลว CS2 จำนวนมากในกระบวนการผลิตเส้นใยเรยอน สำหรับประเทศไทยมีอุตสาหกรรมผลิตเส้นใยเรยอนในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง ถือเป็นแหล่งกำเนิดสำคัญของปัญหามลพิษทางอากาศจากก๊าซ CS2 ของไทย การสูดดมเอาก๊าซ CS2 เข้าสู่ร่างกายในปริมาณมาก อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบประสาท ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบไหลเวียนโลหิต และระบบสืบพันธุ์ ผลการติดตามตรวจวัดสถานการณ์สารคาร์บอนไดซัลไฟด์ แสดงดังตารางต่อไปนี้


วันที่ : 22 ธันวาคม 2563
เข้าชม : ครั้ง
ข้อมูลโดย : ส่วนพัฒนาและบริหารระบบสารสนเทศ , ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร


Skip to content