pcd.go.th
ขนาดอักษร |
คพ. ยืนยันแอปพลิเคชัน Air4thai รายงานค่าฝุ่นตามมาตรฐานสากล

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวแชร์ต่อกันเรื่องแอป Air4thai ของ คพ. แสดงผลเป็นสีเขียวในขณะที่สภาพอากาศแย่ แตกต่างจากแอปของเอกชนที่แสดงสีแดง จึงมีข้อสงสัยว่าแอป Air4thai ของ คพ. ตั้งค่าเฉลี่ยตรวจวัดฝุ่น PM2.5 ต่ำกว่ามาตรฐาน นั้น

นายอรรถพล กล่าวว่า วิธีการรายงานข้อมูลคุณภาพอากาศประจำวันของประเทศไทยในแอปพลิเคชัน Air4thai สามารถเลือกดูข้อมูลผลการตรวจวัดได้ทั้งค่ารายชั่วโมงและค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง โดยใช้เครื่องมือในการตรวจวัดที่มีมาตรฐานตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนด ซึ่งวิธีการตรวจวัดและวิธีการเก็บตัวอย่างเป็นไปตามที่องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (U.S. EPA) กำหนด และสอดคล้องกับการรายงานสถานการณ์มลพิษทางอากาศแต่ละชนิดตามมาตรฐานสากลที่ใช้กันทั่วโลก

ทั้งนี้ การรายงานสถานการณ์มลพิษทางอากาศโดยใช้ค่าเฉลี่ยต่อเนื่องนั้น เป็นการรายงานเพื่อประเมินระดับความเป็นพิษของมลพิษทางอากาศที่มนุษย์ได้รับสัมผัสและได้รับสะสม โดยมลพิษแต่ละชนิดจะมีผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์แตกต่างกันหากได้รับมลสารต่างๆ เข้าไปในร่างกายตามระยะเวลาที่ได้รับการสัมผัสและสะสม ซึ่งเป็นหลักในการรายงานที่ใช้กันในระดับสากล เช่น การใช้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงต่อเนื่องในการรายงานค่าปริมาณ PM2.5 และ PM10 ส่วนการรายงานค่าปริมาณมลพิษทางอากาศตัวอื่นๆ โดยใช้ค่าเฉลี่ยตามช่วงเวลาที่แต่ละพารามิเตอร์กำหนดเอาไว้ เช่น ปริมาณคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) จะใช้ค่าเฉลี่ย 8 ชั่วโมงต่อเนื่องในการรายงานค่า เป็นต้น

ส่วนแถบสีที่ใช้แสดงระดับปริมาณสารมลพิษทางอากาศ และค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) นั้น จะมีความแตกต่างกันตามที่แต่ละประเทศได้กำหนดเอาไว้ โดยมี วัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและแยกแยะระดับมลพิษทางอากาศจากแถบสีที่ชัดเจน เช่น แถบสีที่ประเทศแคนาดากำหนดใช้ในประเทศจะมีทั้งหมด 11 แถบสี ฮ่องกงใช้ 5 แถบสี สาธารณรัฐประชาชนจีน สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้และอินเดียใช้ 6แถบสี สหราชอาณาจักรใช้ 4 แถบสี 10 ระดับ และประเทศไทย 5 แถบสี 5 ระดับ เป็นต้น

ดังนั้น ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในข้อมูลแอปพลิเคชัน Air4thai ที่เป็นไปตามค่ามาตรฐาน ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนด และสอดคล้องกับการรายงานสถานการณ์มลพิษทางอากาศแต่ละชนิดตามมาตรฐานสากลที่ใช้กันทั่วโลก และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารสถานการณ์และการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รวมถึงการดูแลสุขภาพ สามารถติดตามได้ที่แฟนเพจศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) https://www.facebook.com/airpollution.CAPM นายอรรถพล กล่าว

Skip to content