pcd.go.th
ขนาดอักษร |
รัฐหนุนการผลิตและจำหน่ายน้ำมันกำมะถันต่ำลดฝุ่นละออง PM2.5

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.)กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า คพ. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ศึกษาวิจัยเพื่อหาสัดส่วนของแหล่งกำเนิดฝุ่น​ PM2.5 ของกรุงเทพและปริมณฑล มีแหล่งกำเนิดหลักของมลพิษมาจาก

การขนส่งทางถนน 51% อุตสาหกรรม 21% ครัวเรือน 10% การขนส่งอื่นๆ 9.5% การเผาในที่โล่ง 6% และอื่นๆ อีก 2.5% โดยศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) ได้ขับเคลื่อนแผนการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ภายใต้แผนปฏิบัติการวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง” และเร่งรัดให้เกิดการผลิตและจำหน่ายน้ำมันที่มีกำมะถันต่ำ ปัจจุบันปริมาณกำมะถันที่เป็นองค์ประกอบในน้ำมันเบนซินและดีเซลมีค่าที่ไม่เกิน 50 ppm แต่ในช่วงวิกฤตฝุ่น PM2.5 จะมีโรงกลั่นน้ำมันบางแห่งซึ่งสามารถผลิตน้ำมันเบนซินและดีเซลที่มีค่ากำมะถันไม่เกิน 10 ppm มาจำหน่ายให้ประชาชนได้ใช้เพื่อลดการเกิดฝุ่น PM2.5 ซึ่งการปรับลดปริมาณกำมะถันในน้ำมันดีเซลสามารถช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองและก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้เพราะกำมะถันในน้ำมันเมื่อถูกเผาไหม้จะเกิดเป็นซัลเฟตและจับกับมลพิษอื่นทำให้เกิดเป็นฝุ่น PM2.5 เมื่อโรงกลั่นและผู้ค้าได้ปรับลดกำมะถันในน้ำมันเบนซินและดีเซลลงกว่า 5 เท่า จะทำให้น้ำหนักของฝุ่น PM2.5 ลดลงไปด้วยเช่นกัน

นายมนต์ชัย แจ้งไพร ผู้อำนวยการกองน้ำมันเชื้อเพลิง กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน (พน.) กล่าวว่า พน.ได้กำหนดมาตรการส่งเสริมให้โรงกลั่นน้ำมันที่สามารถผลิตน้ำมันดีเซลหรือน้ำมันเบนซินที่มีกำมะถันต่ำได้และขอให้ผู้ค้าน้ำมันนำน้ำมันดีเซลที่มีกำมะถันต่ำมาจำหน่ายให้พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเพื่อสนับสนุนมาตรการลดฝุ่น PM2.5

พน. ได้กำหนด 2 มาตรการในการช่วยลดฝุ่น PM2.5 ประกอบด้วย 1 กำหนดให้หน่วยงานที่ผลิตและจำหน่ายน้ำมัน ผลิตและจำหน่ายน้ำมันดีเซลที่มีกำมะถันต่ำ และ 2 ส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้น้ำมัน B10 ที่มีกำมะถันต่ำ เพื่อลดการเกิด PM2.5 ซึ่งน้ำมัน B10 มีสัดส่วนไบโอดีเซล 9 – 10% โดยมาตรการมี 2 ระยะ มาตรการระยะสั้น ได้แก่ 1) ให้รถยนต์ของหน่วยงานราชการ เน้นใช้น้ำมัน B10 เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้น้ำมันที่มีกำมะถันต่ำ 2) น้ำมันที่มีกำมะถันต่ำมีราคาถูกกว่า เป็นการช่วยลดภาระค่าน้ำมันและช่วยลดฝุ่นไปด้วย และ 3) ติดตามการปรับปรุงน้ำมันให้มีมาตรฐานเทียบเท่า Euro5 ภายในปี 2566 และสามารถจำหน่ายได้ภายในวันที่ 1 มกราคม 2567 สำหรับมาตรการระยะยาว คือส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้รถไฟฟ้าในการเดินทาง และสนับสนุนให้นำรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาใช้งานเพื่อลดการเกิดฝุ่น PM2.5 ซึ่งการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในช่วงวิกฤตฝุ่นละอองจะไม่สามารถสำเร็จลุล่วงหากขาดความร่วมมือจากประชาชนทุกคน

นายบุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวว่า ปีนี้ บริษัท ปตท. กำหนดแผนการผลิตน้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำและจะนำออกมาจำหน่ายให้กับประชาชนได้ใช้ในช่วงวิกฤตฝุ่น PM2.5 โดยจะจำหน่ายในสถานีบริการของ ปตท. ทุกแห่งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5   

นายสมชัย เตชะวณิช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มธุรกิจการตลาด บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัท บางจากได้ทำการผลิตน้ำมันดีเซลที่มีกำมะถันต่ำและนำออกจำหน่ายในมาตรฐานต่ำพิเศษ เพื่อจำหน่ายในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลช่วงวิกฤตฝุ่นที่เป็นพื้นที่วิกฤตที่เกิดมลพิษ PM2.5 ในช่วงหน้าหนาว เช่นเดียวกันกับนายบุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวว่า มีแผนการดำเนินงานที่จะสนับสนุนและสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 และปัจจุบันสามารถผลิตและจัดจำหน่ายน้ำมัน B10 ได้ทุกสถานีทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศได้จากเว็บไซต์ Air4Thai.pcd.go.th และbangkokairquality.com หรือทางแอปพลิเคชัน Air4Thai และ AirBKK ในมือถือ Smart Phone หรือติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์อากาศผ่านทาง Facebook Fanpage “ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.)”

Skip to content