pcd.go.th
ขนาดอักษร |
อธิบดี คพ. สรุปผลงาน 6 เดือน

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ตามที่ได้รับมอบหมายปฏิบัติหน้าที่อธิบดี คพ. ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา (ตุลาคม 2563 – มีนาคม 2564) ได้มีความตั้งใจที่จะปฏิบัติหน้าที่นำองค์กรร่วมกับเจ้าหน้าที่ทั้งส่วนกลางและสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 1-16 มุ่งมั่นที่จะพิทักษ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม อาทิ การจัดการมลพิษทางอากาศ การจัดการน้ำเสีย การจัดการขยะมูลฝอย การตรวจและบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษ โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจเพื่อให้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตามนโยบาย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งได้ดำเนินงานที่สำคัญ เช่น

ด้านการจัดการคุณภาพอากาศ 

  1. ขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง”ประสานงานหน่วยงานต่างๆ ดำเนินงานตามภารกิจหน่วยงานในการตรวจสอบโรงงาน การตรวจจับรถยนต์ควันดำ การเผาในที่โล่ง ความร่วมมือกับผู้ประกอบการรถยนต์เพื่อลดมลพิษ หารือสำนักเลขาธิการอาเซียนและความร่วมมือต่างประเทศเพื่อเตรียมการป้องกันและรับมือปัญหาหมอกควัน ข้ามแดน
  2. จัดตั้งศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) ตามคำสั่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีหน้าที่กำหนดนโยบายและประเด็นการสื่อสารการประชาสัมพันธ์การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ และการบูรณาการติดตามและสื่อสารเผยแพร่ข่าวสาร การรายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศรายวัน การคาดการณ์และการแจ้งเตือนสถานการณ์ล่วงหน้า
    การจัดทำรายการพิเศษร่วมกับภาคส่วนต่างๆ การจัดทำอินโฟกราฟิกให้ความรู้
  3. ผลักดันให้มีการติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในบรรยากาศครบถ้วนทั้ง 77 จังหวัด (รวมกรุงเทพมหานคร)
    ในปี 2566
  4. ผลักดันและส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จาก sensor สร้างเครือข่ายการติดตามตรวจวัด PM2.5 ของประเทศไทย
  5. ปรับปรุงค่าเกณฑ์มาตรฐานการระบายมลพิษจากรถยนต์ ปรับปรุงมาตรฐานควบคุมการปล่อยทิ้งไอน้ำมันเบนซินจากคลังน้ำมันเชื้อเพลิง

 ด้านการจัดการกากของเสียและสารอันตราย

  1. ผลักดันแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563-2565) ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 กำหนดเป้าหมายที่ 1 การลดและเลิกใช้พลาสติกเป้าหมาย 4 ชนิด ภายในปี 2565 เป้าหมายที่ 2 การนำพลาสติก 7 ชนิดเป้าหมาย นำกลับไปใช้ประโยชน์ ปี 2565 ร้อยละ 50 ตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไปร้อยละ 100
  2. ใช้กลไกของคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ห้ามนำเข้าขยะพลาสติก
    ห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ 428 รายการ ห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศและสนับสนุนการใช้เศษพลาสติกภายในประเทศในการเป็นวัตถุดิบในโรงงาน
  3. การเร่งรัดการออกกฎหมาย พระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

ด้านการจัดการคุณภาพน้ำ 

  1. กำหนดอัตราค่าบริการบำบัดน้ำเสียของระบบบำบัดน้ำเสียรวมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ใช้เงินกองทุนสิ่งแวดล้อม ตามมาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535
  2. พัฒนามาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากอุตสาหกรรมเฉพาะประเภท ได้แก่ โรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า
    สถานประกอบการขนาดเล็กที่ผลิตสินค้าหรือให้บริการบางประเภท และโรงงานประกอบกิจการประเภทการฆ่าสัตว์
    ซึ่งมิใช่สัตว์น้ำ
  3. การแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำท่าจีน และพื้นที่รอยต่อลุ่มน้ำแม่กลอง 3 จังหวัด (จ.ราชบุรี จ.เพชรบุรี และ จ.สมุทรสงคราม)
  4. ผลักดันการจัดทำหลักเกณฑ์ “ฉลากถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูปประสิทธิภาพสูง” เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้บริโภคเลือกใช้ถังบำบัดน้ำเสีย ได้อย่างเหมาะสม

การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (ศปก.พล.) หรือ EPU 

มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างทันท่วงที เพื่อดำเนินการเชิงรุกที่รวดเร็วและเบ็ดเสร็จ เป็นศูนย์เฉพาะกิจในการติดตามตรวจสอบแก้ไขปัญหา และดำเนินการตามกฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมได้เข้าตรวจสอบและแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนด้านมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนอย่างรุนแรง รวม 229 เรื่อง ตัวอย่างกรณีปัญหากลิ่นเหม็นจากการรั่วไหลของสารเคมี ภายในโรงงานของบริษัท ไมด้า จำกัด จังหวัดฉะเชิงเทรา กรณีแหล่งน้ำใช้และพื้นที่การเกษตรของประชาชน ปนเปื้อนน้ำเสียจากการประกอบกิจการของโรงงานบริษัท วินโพรเสส จำกัด จังหวัดระยอง กรณีคุณภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำกลุ่มน้ำโจน ที่ 16 มีสภาพเป็นกรดซึ่งปนเปื้อนจากการประกอบกิจการของโรงงานอุตสาหกรรม จังหวัดฉะเชิงเทรา กรณีการลักลอบระบายน้ำเสียจากโรงงานผลิตแป้งของบริษัท เอส.ซี.อินดัสทรี จำกัด จังหวัดฉะเชิงเทรา ปัญหาฝุ่นละอองจากโรงงานผลิตน้ำตาลทรายและโรงไฟฟ้าชีวมวล บริษัท อุตสาหกรรมโคราช จำกัด ซึ่งในบางกรณีได้มีการแจ้งกล่าวโทษให้ดำเนินการตามกฎหมายแล้วต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในการจัดการมลพิษ คพ. มีความมุ่งมั่นที่จะปกป้องพิทักษ์สิ่งแวดล้อมให้มีความยั่งยืนไปสู่ลูกหลาน ดังคำขวัญ “น้ำต้องสะอาด อากาศต้องบริสุทธิ์ หยุดมลพิษ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน”  นายอรรถพล กล่าว

 

Skip to content