pcd.go.th
ขนาดอักษร |
สรุปสถานการณ์สารอินทรีย์ระเหยง่ายในบรรยากาศ (VOCs) ปี 2559

ในปี พ.ศ.2559 กรมควบคุมมลพิษ มีการตรวจวัดสารอินทรีย์ระเหยง่ายในบรรยากาศ (Volatile Organic Compounds:VOCs) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดปทุมธานี จังหวัดระยอง จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดสงขลา จังหวัดราชบุรี จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดขอนแก่น เพื่อติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์สารอินทรีย์ระเหยง่ายในบรรยากาศจำนวน 9 ชนิด ตามที่ได้กำหนดไว้เป็นมาตรฐานค่าสารอินทรีย์ระเหยง่ายในบรรยากาศโดยทั่วไปในเวลา1 ปี (ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๐ (พ.ศ.๒๕๕๐) ลงวันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๐ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔ ตอนพิเศษ ๑๔๓ ง วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๐

สถานการณ์ในภาพรวมของประเทศไทยสำหรับปี 2559พบสารเบนซีน, มีค่าสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ริมถนน นอกจากนี้ ยังตรวจพบสารคลอโรฟอร์มมีค่าสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานบริเวณริมถนนพระราม 4 เขตปทุมวัน กทม.สำหรับผลการติดตามตรวจวัดสถานการณ์สารอินทรีย์ระเหยง่ายในจังหวัดอื่นๆ พบสารเบนซีนมีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานในพื้นที่ทั่วไป บริเวณจุดตรวจวัดในจังหวัดปทุมธานี และสมุทรสาครนอกจากนี้เบนซีน และ 1,3-บิวทาไดอีนมีค่าสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานในบางพื้นที่บริเวณรอบแหล่งกำเนิดอุตสาหกรรมในจังหวัดระยอง

สารเบนซีนในบรรยากาศเป็นปัญหาหลักทั่วประเทศ ซึ่งมีแหล่งกำเนิดหลากหลาย ดังนั้น การวิเคราะห์หาสาเหตุต้องจำแนกตามลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินของบริเวณพื้นที่จุดตรวจวัด โดยแบ่งเป็น พื้นที่ทั่วไปหรือบริเวณที่อยู่อาศัยในเมืองหลัก พื้นที่ริมถนนซึ่งมีการจราจรหนาแน่น และพื้นที่ชุมชนรอบอุตสาหกรรม ซึ่งในภาพรวมพบว่าแนวโน้มปริมาณสารเบนซีนในบรรยากาศ เฉลี่ยรายปีจากบริเวณพื้นที่ชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมมีค่าสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่นๆ อย่างไรก็ตาม ปริมาณสารเบนซีนในบรรยากาศมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา พบว่าปริมาณเบนซีน และ 1,3 บิวทาไดอีนในบรรยากาศ บริเวณพื้นที่ริมถนนซึ่งมีการจราจรหนาแน่นเขตกรุงเทพฯ มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในการกำหนดมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นในการควบคุม การระบายสารอินทรีย์ระเหยง่ายจากภาคคมนาคมขนส่ง รวมทั้ง การพัฒนา เทคโนโลยีสะอาดสำหรับยานพาหนะ การปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง อย่างไรก็ตาม ข้อมูลผลการตรวจปริมาณสารเบนซีนในบรรยากาศ ยังแสดงให้เห็นว่า นอกจากการจัดทำมาตรการเพื่อควบคุมการระบายสารเบนซีน จากอุตสาหกรรมแล้ว ยังมีความจำเป็นที่ต้องดำเนินมาตรการเพื่อควบคุมการระบายมลพิษอากาศ จากภาคคมนาคมขนส่งและการจราจรโดยเฉพาะในเขตพื้นที่ริมถนนบริเวณเมืองหลักอื่นๆ เช่น ขอนแก่น และเชียงใหม่ อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ กรมควบคุมมลพิษยังเฝ้าระวังสถานการณ์สารอินทรีย์ระเหยง่าย กลุ่มสารประกอบคาร์บอนิลซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการเผาไหม้เอทานอล การเพิ่มขึ้นของปริมาณการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์เป็นเชื้อเพลิงทางเลือกที่มี สัดส่วนการผสมเอทานอลทดแทนน้ำมันเบนซีน เพื่อช่วยลดการสูญเสีย เงินตราต่างประเทศจากการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงบางส่วน และเพื่อกระตุ้นราคาสินค้าเกษตรในประเทศที่ใช้เป็นวัตถุดิบ ในการผลิตเอทานอลด้วยปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีมาตรฐานสารประกอบคาร์บอนิล ในบรรยากาศ อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมมลพิษ ในฐานะหน่วยงานวิชาการ ซึ่งมีภารกิจหน้าที่ในการเสนอนโยบายและมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาประกาศมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในราชกิจจานุเบกษาเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อพัฒนาความพร้อม และรวบรวมหลักฐาน ทางวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐาน โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องด้วย เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเสนอแนะ นโยบาย/มาตรการที่เกี่ยวข้องในการติดตามและเฝ้าระวัง สถานการณ์สารอินทรีย์ระเหยง่ายกลุ่มสารประกอบคาร์บอนิล

ทั้งนี้ การดำเนินงานใน ปี 2560 กรมควบคุมมลพิษ จะได้ขยายเครือข่ายการเฝ้าระวังสถานการณ์ สารอินทรีย์ระเหยง่ายให้ครอบคลุมกิจกรรมต่างๆ ในประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อใช้เป็นแนวทางในการเสนอแนะ นโยบายและกำหนดมาตรการกำกับดูแลที่เหมาะสม และเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและ รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป

ภาพเปรียบเทียบค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงเฉลี่ยรายปีของเบนซีนตามประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดิน ปี 2559 (หน่วย:ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร)

 

 


วันที่ : 22 ธันวาคม 2563
เข้าชม : ครั้ง
ข้อมูลโดย : ส่วนพัฒนาและบริหารระบบสารสนเทศ , ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร


Skip to content