pcd.go.th
ขนาดอักษร |
สรุปสถานการณ์สารอินทรีย์ระเหยง่ายในบรรยากาศ (VOCs) ปี 2561

ในปี พ.ศ.2561 กรมควบคุมมลพิษ มีการตรวจวัดสารอินทรีย์ระเหยง่ายในบรรยากาศ (Volatile Organic Compounds:VOCs) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดปทุมธานี จังหวัดระยอง จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดสงขลา จังหวัดอ่างทอง และจังหวัดขอนแก่น เพื่อติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ สารอินทรีย์ระเหยง่ายในบรรยากาศจำนวน 9 ชนิด ตามที่ได้กำหนดไว้เป็นมาตรฐานค่าสารอินทรีย์ระเหยง่าย ในบรรยากาศโดยทั่วไปในเวลา1 ปี (ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 30 (พ.ศ.2550) ลงวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2550 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนพิเศษ 143 ง วันที่ 28 กันยายน 2550)

สถานการณ์ในภาพรวมของประเทศไทยสำหรับปี 2561 พบสารเบนซีน1,3-บิวทาไดอีน และคลอโรฟอร์ม มีค่าสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานในบางพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ริมถนน และพื้นที่รอบอุตสาหกรรม สำหรับผลการติดตามตรวจวัดสถานการณ์สารเบนซีน มีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานในพื้นที่ทั่วไปบริเวณจุดตรวจวัดในจังหวัดปทุมธานีสงขลา ขอนแก่น อ่างทองและพื้นที่ทั่วไปในจังหวัดเชียงใหม่ แต่ยังตรวจพบ เบนซีน และ 1,3-บิวทาไดอีน มีค่าสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานในบางพื้นที่บริเวณ รอบแหล่งกำเนิดอุตสาหกรรมในจังหวัดระยองรายละเอียดแสดงดัง ตารางเปรียบเทียบค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงเฉลี่ยรายปี กับค่ามาตรฐานเฉลี่ยรายปีของสารอินทรีย์ระเหยง่าย 9 ชนิด

เปรียบเทียบค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงเฉลี่ยรายปีกับค่ามาตรฐานเฉลี่ยรายปีของสารอินทรีย์ระเหยง่าย
ปี 2561 (หน่วย:ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร)

สารเบนซีนในบรรยากาศเป็นปัญหาหลักทั่วประเทศ ซึ่งมีแหล่งกำเนิดหลากหลาย ดังนั้นการวิเคราะห์หาสาเหตุต้องจำแนกตามลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินของบริเวณพื้นที่จุดตรวจวัด โดยแบ่งเป็น พื้นที่ทั่วไปหรือบริเวณที่อยู่อาศัยในเมืองหลัก พื้นที่ริมถนนซึ่งมีการจราจรหนาแน่น และพื้นที่ชุมชนรอบอุตสาหกรรม ซึ่งในภาพรวมพบว่า ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา ปริมาณเบนซีน และ 1,3 บิวทาไดอีน ในบรรยากาศบริเวณพื้นที่ริมถนนซึ่งมีการจราจรหนาแน่นเขตกรุงเทพฯ มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จ ในการกำหนดมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นในการควบคุมการระบาย สารอินทรีย์ระเหยง่ายจากภาคคมนาคมขนส่ง รวมทั้ง การพัฒนาเทคโนโลยีสะอาดสำหรับยานพาหนะ การปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง อย่างไรก็ตาม ข้อมูลผลการตรวจปริมาณสารเบนซีนในบรรยากาศ บริเวณพื้นที่ชุมชนรอบอุตสาหกรรมในปี 2561 มีค่าสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ดังนั้น หน่วยงานกำกับดูแลในพื้นที่ จึงควรพิจารณาจัดทำมาตรการเพื่อควบคุมการระบายสารเบนซีน จากแหล่งกำเนิดอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด และยังมีความจำเป็นที่ต้องดำเนินมาตรการ เพื่อควบคุมการระบายมลพิษอากาศจากภาคคมนาคมขนส่งและการจราจร โดยเฉพาะในเขตพื้นทีงริมถนนบริเวณเมืองหลักอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง รายละเอียดแสดงดังแผนภาพเปรียบเทียบปริมาณสารเบนซีนในบรรยากาศแยกตามประเภทจุดเก็บตัวอย่าง


วันที่ : 22 ธันวาคม 2563
เข้าชม : ครั้ง
ข้อมูลโดย : ส่วนพัฒนาและบริหารระบบสารสนเทศ , ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร


Skip to content