pcd.go.th
ขนาดอักษร |
รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศประจำวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 กทม. และปริมณฑล เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 42 – 84 มคก./ลบ.ม.

ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ โฆษกศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) แถลงรายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศประจำวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 7.00 น. ประเทศไทยเช้าวันนี้ผลการตรวจวัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) โอโซน (O3) และคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทุกพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ปริมาณ PM10 ตรวจพบค่าระหว่าง 20 – 165 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร(มคก./ลบ.ม.) เกินมาตรฐานที่บริเวณ ริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน, เขตคลองสามวา, ริมถนนราษฎร์บูรณะ เขตราษฎร์บูรณะ, ริมถนนสีหบุรานุกิจ เขตมีนบุรี, ริมถนนเลียบวารี เขตหนองจอก กรุงเทพฯ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ, อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา รวมทั้ง ต.หน้าพระลาน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี

ดร.ศิวัช กล่าวว่า สำหรับวันนี้ เรายังต้องเฝ้าระวังปริมาณ PM2.5 ในประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพบเกินค่ามาตรฐานในหลายจังหวัด ศกพ. จึงขอให้พี่น้องประชาชน ที่อยู่บริเวณพื้นที่มีปริมาณ PM2.5 สูงเกินเกณฑ์ค่ามาตรฐาน ให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง สวมใส่หน้ากากอนามัย หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง และหากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์

ในวันนี้ ภาพรวมปริมาณ PM2.5 ในประเทศพบเกินค่ามาตรฐานใน กรุงเทพฯ ปทุมธานี  นนทบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ เชียงใหม่ ลำปาง พิษณุโลก ตาก สระบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ราชบุรี ชลบุรี และ ระยอง สำหรับผลการตรวจวัดปริมาณ PM2.5 แยกรายภูมิภาค มีดังนี้

  • ภาคเหนือ ตรวจวัดได้ 22 – 82 มคก./ลบ.ม.
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 13 – 34 มคก./ลบ.ม.
  • ภาคกลางและตะวันตก ตรวจวัดได้ 39 – 73 มคก./ลบ.ม.
  • ภาคตะวันออก ตรวจวัดได้ 43 – 65 มคก./ลบ.ม.
  • ภาคใต้ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 14 – 27 มคก./ลบ.ม.
  • กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยสถานีตรวจวัดของ กรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับ กรุงเทพฯ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 42 – 84 มคก./ลบ.ม. ความเร็วลมเฉลี่ย ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลสำหรับวันนี้และพรุ่งนี้ในกรุงเทพมหานคร 12 กม./ชม. โดยมีทิศทางลมหลักมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายสภาวะอากาศของประเทศไทยระหว่าง วันที่ 4-6 กุมภาพันธ์ 2564 ลมที่พัดปกคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณดังกล่าวมีแนวโน้มการสะสมฝุ่นละอองน้อยลง สำหรับภาคใต้มีลมพัดปกคลุมต่อเนื่องและมีฝนตกบางพื้นที่ ทำให้การสะสม   ฝุ่นละอองมีน้อยตลอดช่วงเวลานี้

นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานอัตราการระบายอากาศ (Ventilation Rate) ซึ่งหมายถึงอัตราความสามารถในการกำจัดฝุ่น/ควัน ออกจากชั้นบรรยากาศใกล้ผิวพื้น มีค่าต่ำกว่า 2000 ตารางเมตร/วินาที ในพื้นที่ทั่วประเทศ ศกพ. จึงขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนงดเผาในที่โล่ง ยกเว้นบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ ลพบุรี ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร และอำนาจเจริญ ซึ่งมีอัตราการระบายอากาศดี (ประมาณ 2000 – 8000 ตารางเมตร/วินาที)

ดังนั้น เพื่อบรรเทาสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน ศกพ. ได้ขอความร่วมมือไปยัง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการขนส่งทางบก และกรุงเทพมหานครรวมทั้งจังหวัดปริมณฑล กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยกระดับการดำเนินงานเพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์ในการกำกับดูแลแหล่งกำเนิดอย่างเข้มงวด ดังนี้

  1. อำนวยความสะดวกการจราจรให้หมุนเวียนโดยเร็ว โดยเฉพาะจุดวิกฤตมลพิษทางอากาศใน กทม.และเมืองใหญ่
  2. ควบคุมการเผาในที่โล่งทุกประเภท โดยตอนนี้จำนวน จุดความร้อนในประเทศไทยมีทั้งหมด 748 จุด โดยแบ่งออกเป็นพื้นที่

o ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 249 จุด

o พื้นที่เกษตร จำนวน 184 จุด

o ป่าอนุรักษ์ จำนวน 165 จุด

o เขต สปก. จำนวน 91 จุด

o ชุมชนและอื่นๆ จำนวน 54 จุด และ

o พื้นที่ริมทางหลวง จำนวน 5 จุด

  1. เข้มงวดการตรวจสอบควันดำ รวมถึงดำเนินการตรวจสอบในพื้นที่จอดรถบรรทุกทุกขนาด ท่าเรือ ท่ารถและอู่ซ่อม ฯลฯ
  2. ขอความร่วมมือจอดรถดับเครื่องยนต์
  3. ขอให้เจ้าของรถยนต์บำรุงรักษาเครื่องยนต์ตามวงรอบที่กำหนด

วันนี้ ขอฝากเกร็ดความรู้ เรื่องปัจจัยด้านอุตุนิยมวิทยาพื้นฐานที่มีผลต่อปริมาณฝุ่นละอองในแต่ละวัน คือ ความแตกต่างของเส้นความกดอากาศเท่ายิ่งมากเท่าไหร่ จะยิ่งทำให้เกิดลมแรงขึ้น ในทางตรงกันข้าม หากความแตกต่างของเส้นความกดอากาศเท่ายิ่งมีน้อยมากเท่าไหร่ ก็จะทำให้ลมมีกำลังอ่อนลงและทำให้ฝุ่นละอองสะสมตัวมากขึ้น นอกจากนี้ปรากฏการณ์อินเวอร์ชั่น ซึ่งเป็นปัจจัยร่วมทำให้อากาศไม่สามารถลอยตัวขึ้นในแนวดิ่งได้ตามปกติ ส่งผลให้เกิดการสะสมฝุ่นละอองในอากาศได้หลายวันหรือนานกว่า หากไม่มีฝนชะล้างออกไป

สุดท้ายนี้ พี่น้องประชาชนสามารถเลือกดูข้อมูลผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศได้ทั้งแบบค่าเฉลี่ยรายชั่วโมง และแบบค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมง ผ่านทางเว็บไซต์ Air4Thai.com และ bangkokairquality.com หรือทางแอปพลิเคชัน Air4Thai และ AirBKK ท่านยังสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์คุณภาพอากาศผ่านทาง Facebook Fanpage“ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.)”ดร.ศิวัช กล่าว

Skip to content