ขนาดอักษร |
สถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ปี 2563

สถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ปี 2563 คุณภาพน้ำเกณฑ์ดีเพิ่มขึ้น แม่น้ำตาปีตอนบนอยู่ในเกณฑ์ดีมาก คุณภาพน้ำทะเลในภาพรวมมีคุณภาพน้ำดีขึ้น คุณภาพอากาศพื้นที่ทั่วไปภาพรวมคุณภาพอากาศดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ขยะมูลฝอย ลดลงจากปี 2562

กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สรุปสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ประจำปี 2563 สถานการณ์คุณภาพน้ำ คุณภาพน้ำเกณฑ์พอใช้ขยับสูงขึ้นเป็นเกณฑ์ดี แม่น้ำตาปีตอนบนอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2554-2563) คุณภาพน้ำของแหล่งน้ำมีแนวโน้มดีขึ้น ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์พอใช้ถึงดี ไม่มีแหล่งน้ำที่อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก คุณภาพน้ำทะเลในภาพรวมมีคุณภาพน้ำดีขึ้น แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในช่วง 10 ปีคุณภาพน้ำทะเลส่วนใหญ่อยู่ในระดับดี ยกเว้นบริเวณอ่าวไทยรูปตัว ก ที่เสื่อมโทรมอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์คุณภาพอากาศ พื้นที่ทั่วไปภาพรวมคุณภาพอากาศดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา จังหวัดที่มีคุณภาพอากาศดีที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ นราธิวาส สตูล ภูเก็ต สงขลา และยะลา ตามลำดับ ซึ่งไม่มีจำนวนวันที่มลพิษทางอากาศเกินค่ามาตรฐาน พื้นที่วิกฤต กรุงเทพมหานครและปริมณฑล สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ลดลงกว่าปี 2562 หมอกควันภาคเหนือ มีจำนวนวันที่ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน 112 วัน ซึ่งเท่ากับปี 2562 จุดความร้อนสะสมลดลง ตำบลหน้าพระลาน จังหวัดสระบุรี ฝุ่นละออง PM10 มีจำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐานและปริมาณฝุ่นละออง PM10 เฉลี่ยรายปีลดลง ขยะมูลฝอยเกิดขึ้นประมาณ 27.35 ล้านตัน ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 4 ของเสียอันตรายจากชุมชนเกิดขึ้นประมาณ 658,651 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ร้อยละ 1.6 มูลฝอยติดเชื้อเกิดขึ้น 47,962 ตัน ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 10

สถานการณ์คุณภาพน้ำ

คุณภาพน้ำ 59 แหล่งน้ำและ 6 แหล่งน้ำนิ่ง อยู่ในเกณฑ์ดีมาก ร้อยละ 2 (เท่ากับปี 2562) เกณฑ์ดี  ร้อยละ 37 (เพิ่มขึ้นจาก 2562 ร้อยละ 9) เกณฑ์พอใช้ ร้อยละ 43 (ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 7) และเกณฑ์เสื่อมโทรม ร้อยละ 18 (เท่ากับปี 2562) แหล่งน้ำที่มีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ดี 5 ลำดับแรก ในปี 2563 คือ 1.ตาปีตอนบน (อยู่ในเกณฑ์ดีมาก) 2.กก 3. แควน้อย 4.หนองหาร และ 5.อูน แหล่งน้ำที่คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรม 5 ลำดับแรก ในปี 2563  คือ 1.ลำตะคองตอนล่าง 2.เจ้าพระยาตอนล่าง 3. สะแกกรัง 4.ระยองตอนล่าง และ 5.กวง มีแหล่งน้ำที่อยู่ในเกณฑ์เป็นไปตามประเภทการใช้ประโยชน์ จำนวน 8 แหล่ง จาก 59 แหล่ง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2554-2563) คุณภาพน้ำของแหล่งน้ำมีแนวโน้มดีขึ้น ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์พอใช้ถึงดี ไม่มีแหล่งน้ำที่อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก

คุณภาพน้ำทะเล อยู่ในเกณฑ์ดีมาก ร้อยละ 4 (เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ร้อยละ 100) เกณฑ์ดี ร้อยละ 60 (เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ร้อยละ 2)  เกณฑ์พอใช้ ร้อยละ 27 (ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 21) เกณฑ์เสื่อมโทรม ร้อยละ 7 (เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ร้อยละ 133) และเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก ร้อยละ 2 (เท่ากับปี 2562) คุณภาพน้ำทะเลในภาพรวมมีคุณภาพน้ำดีขึ้น บริเวณที่มีคุณภาพน้ำทะเลดี 5 ลำดับแรก คือ 1.หาดพระราชวังไกลกังวล 2.หาดบ้านปากบารา 3.หาดมหาราช 4.หาดในหาน และ 5.หาดบ้านหน้าทับ บริเวณที่มีคุณภาพน้ำทะเลเสื่อมโทรม 5 ลำดับแรก คือ 1.ปากแม่น้ำเจ้าพระยา 2.หน้าโรงงานฟอกย้อม กม.35 3.ปากคลอง 12 ธันวา 4.ศรีราชา (เกาะลอย) และ 5.หาดสุชาดา แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในช่วง 10 ปี คุณภาพน้ำทะเลส่วนใหญ่อยู่ในระดับดี ยกเว้นบริเวณอ่าวไทยรูปตัว ก ที่เสื่อมโทรมอย่างต่อเนื่อง

สาเหตุหลักที่คุณภาพน้ำผิวดินและน้ำทะเลเสื่อมโทรม เนื่องมาจากการระบายน้ำเสียจากภาคชุมชน บ้านเรือนแหล่งท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตรกรรม ระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนยังมีไม่เพียงพอและบางแห่งยังไม่มีประสิทธิภาพ การจัดการน้ำเสียจากภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตรกรรมไม่มีประสิทธิภาพ ยังมีอุปสรรคในการนำไปปฏิบัติ เช่น เทคโนโลยีในการบำบัดน้ำเสียมีความยุ่งยากและซับซ้อน การจัดการดูแลขาดบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจในการจัดการน้ำเสีย ส่วนเทคโนโลยีในการจัดการน้ำเสียที่ไม่มีความซับซ้อนต้องใช้พื้นที่จำนวนมาก เป็นต้น (เนื่องจากการผลิตส่วนใหญ่ยังคงยึดวิถีชุมชน และขึ้นอยู่กับฤดูกาล)

แนวทางในการจัดการคุณภาพน้ำในภาพรวม ลดและควบคุมการระบายมลพิษทางน้ำจากแหล่งกำเนิด ตรวจและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นกับแหล่งกำเนิดมลพิษ ปรับปรุงและพัฒนามาตรฐานคุณภาพน้ำและมาตรฐานควบคุมมลพิษทางน้ำจากแหล่งกำเนิด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีการจัดสร้างและเพิ่มศักยภาพระบบบำบัดน้ำเสียของท้องถิ่นนำระบบอนุญาตการระบายมลพิษมาใช้ในการควบคุมการระบายมลพิษไม่ให้เกินศักยภาพในการรองรับของแหล่งน้ำหน่วยงานอนุมัติ/อนุญาตประกอบกิจการนำมาตรฐานการจัดการน้ำเสียไปใช้เป็นเงื่อนไขในการให้อนุญาต และจังหวัด/อปท. ติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำในพื้นที่ของตนเองเพื่อเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยคุณภาพน้ำ

สถานการณ์คุณภาพอากาศ

พื้นที่ทั่วไป ภาพรวมคุณภาพอากาศดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 มีค่าเฉลี่ยรายปีทั่วประเทศ 23 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) (ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 8) ฝุ่นละออง PM10 มีค่าเฉลี่ยรายปีทั่วประเทศ 43 มคก./ลบ.ม. (ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 9) ก๊าซโอโซน มีค่าเฉลี่ย 8 ชั่วโมงสูงสุดเฉลี่ยทั้งประเทศ 81 มคก./ลบ.ม. (ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 11) เป็นผลมาจากการขับเคลื่อนการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ประชาชนลดกิจกรรมการเดินทาง อุตสาหกรรมลดกำลังการผลิต และการใช้พลังงานไฟฟ้าทั่วประเทศลดลง มลพิษหลักที่ยังเป็นปัญหา คือ ฝุ่นละออง PM2.5 ฝุ่นละออง PM10 และก๊าซโอโซน จังหวัดที่มีคุณภาพอากาศดีที่สุด 5 อันดับแรกใน ปี 2563 ได้แก่ นราธิวาส สตูล ภูเก็ต สงขลา และยะลา ตามลำดับ ซึ่งไม่มีจำนวนวันที่มลพิษทางอากาศเกินค่ามาตรฐาน

พื้นที่วิกฤต

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล สถานการณ์ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5ปี 2563 อยู่ในช่วง 20-25 มคก./ลบ.ม. ลดลงกว่าปี 2562 ค่าเฉลี่ยทั้ง 6 จังหวัด (กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ นครปฐม ปทุมธานี และสมุทรสาคร) 23 มคก./ลบ.ม. (ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 12) ทั้งนี้สถานการณ์คุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากมีการกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ที่เพิ่มขึ้น เช่น การเร่งรัดให้มีการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ติดตามตรวจสอบและรายงานข้อมูลคุณภาพอากาศในพื้นที่เป็นประจำทุกวัน วันละ 3 เวลา คือ 7.00 น. 12.00 น. และ 17.00 น. เพื่อแจ้งเตือน สื่อสาร และสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหา การใช้ข้อมูลทางวิชาการในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ

หมอกควันภาคเหนือ มีความรุนแรงกว่าปี 2562 เล็กน้อย จำนวนวันที่ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน 112 วัน
ซึ่งเท่ากับปี 2562 จุดความร้อนสะสมมีค่า 88,855 จุด (ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 2) ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเฉลี่ย 24 ชั่วโมงสูงสุด 366 มคก./ลบ.ม. (เพิ่มขึ้นจากปี 2562  ร้อยละ 4) สาเหตุหลักมาจากมีการเผาในพื้นที่การเกษตรจำนวนมากประกอบกับสภาพอากาศที่แห้งแล้ง ส่งผลให้มีการลุกลามของไฟป่าอย่างรวดเร็ว การแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือดำเนินการภายใต้กลไก พ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 โดยกำหนด 4 พื้นที่ (พื้นที่ป่า พื้นที่เกษตร พื้นที่ริมทาง และพื้นที่ชุมชน) และใช้ 5 มาตรการ (ระบบบัญชาการ การลดเชื้อเพลิง การสร้างความตระหนัก การสร้างเครือข่าย/จิตอาสา และการบังคับใช้กฎหมาย) การยกระดับ 12 มาตรการตามแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง การนำอากาศยานมาสนับสนุนภารกิจดับไฟป่า การกำหนดช่วงเวลาห้ามเผาเด็ดขาด และการตั้งศูนย์แก้ไขปัญหาไฟป่า

ตำบลหน้าพระลาน จังหวัดสระบุรี ฝุ่นละออง PM10 มีจำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐาน 92 วัน (ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 39) ปริมาณฝุ่นละออง PM10 เฉลี่ยรายปี 107 มคก./ลบ.ม. (ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 9) โดยร่วมกับคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในเขตควบคุมมลพิษ จ.สระบุรี ดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการต่างๆ และสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เช่น การติดตามตรวจสอบฝุ่นละอองทั้งในบรรยากาศทั่วไปและการระบายฝุ่นละอองจากแหล่งกำเนิด ส่ง Mr. PM10 ลาดตระเวนพื้นที่สุ่มตรวจแบบ Spot check ตรวจจับรถใช้งานที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ซ่อมบำรุง ดูแลและทำความสะอาดถนนที่เป็นเส้นทางจราจรเพื่อลดปริมาณการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง

พื้นที่ตำบลมาบตาพุด จังหวัดระยอง สารอินทรีย์ระเหยง่าย ประเภทสารเบนซีน และสาร 1,3         บิวทาไดอีน มีปริมาณเพิ่มขึ้น ส่วนสาร 1,2 ไดคลอโรอีเทน ลดลงจากปีที่ผ่านมา มีการแก้ไขปัญหาโดยวิเคราะห์ข้อมูลผลการตรวจวัดสารอินทรีย์ระเหยง่าย และกิจกรรมที่ไม่ใช่การผลิตปกติเพื่อหาสาเหตุและควบคุมการระบายสารดังกล่าว การเตรียมความพร้อมโรงงานอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมการปฏิบัติตามข้อกำหนดใหม่ เรื่อง มาตรฐานควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียจากโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมสำหรับการควบคุมการระบายสารเบนซีนในรูปแบบการเฝ้าระวังบริเวณริมรั้ว และการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานผ่านคณะกรรมการชุดต่างๆ ในพื้นที่ จ.ระยอง เพื่อเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหา

ขยะมูลฝอย ของเสียอันตรายจากชุมชนและมูลฝอยติดเชื้อ

ขยะมูลฝอย เกิดขึ้นประมาณ 27.35 ล้านตัน (ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 4) โดยขยะมูลฝอยจะถูกคัดแยก ณ
ต้นทาง และนำกลับไปใช้ประโยชน์ จำนวน 11.93 ล้านตัน (ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 5) กำจัดอย่างถูกต้อง 11.19 ล้านตัน (เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ร้อยละ14) และกำจัดไม่ถูกต้องประมาณ 4.23 ล้านตัน (ลดลงจาก2562 ร้อยละ 34) จังหวัดสะอาด 5 อันดับแรก ปี 2563 ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต ลำพูน ระยอง และนนทบุรี ตามลำดับ สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ปริมาณขยะมูลฝอยลดลงเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยในช่วงตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 พบว่า อปท. บางแห่งและพื้นที่กรุงเทพมหานครบางเขต มีปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนลดลง เนื่องจากมีการควบคุมการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมาประเทศไทย และขณะเดียวกันมีมาตรการกำหนดให้ปฏิบัติงาน Work From Home ทำให้ปริมาณพลาสติกใช้ครั้งเดียว (Single use plastic) เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเขตเมืองที่มีการใช้บริการสั่งซื้อสินค้าและอาหารผ่านระบบออนไลน์เพิ่มขึ้น สำหรับพื้นที่ 76 จังหวัด เมื่อรวบรวมปริมาณขยะมูลฝอยเปรียบเทียบในสถานการณ์ก่อนช่วงการแพร่ระบาดฯ (ตั้งแต่เดือนตุลาคม 62 – มีนาคม 63) มีปริมาณเฉลี่ย 68,000 ตัน/วัน ช่วงที่มีการ Work From Home (เดือนเมษายน 63) เฉลี่ย 63,000 ตัน/วัน ช่วงหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ระลอกแรก (เดือนพฤษภาคม-พฤศจิกายน 63) เฉลี่ย 63,000 ตัน/วัน และช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ระลอกใหม่ (เดือนธันวาคม 63-มกราคม 64) เฉลี่ย 58,000 ตัน/วัน สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่ามีแนวโน้มลดลง ตั้งแต่ก่อนช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ (ตั้งแต่เดือนตุลาคม 62-มีนาคม 63) เฉลี่ย 326 ตัน/วัน ช่วง Work From Home (เดือน เม.ษ .63) เฉลี่ย 312 ตัน/วัน ช่วงหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ระลอกแรก (เดือนพฤษภาคม – พฤศจิกายน 63) เฉลี่ย 293 ตัน/วัน และช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ระลอกใหม่ (เดือนธันวาคม 63 – มกราคม 64) เฉลี่ย 271 ตัน/วัน ซึ่งพบว่าแนวโน้มปริมาณขยะมูลฝอยทั้ง 77 พื้นที่ ลดลง

นอกจากนี้ปี 2563 พบว่ามีปริมาณขยะพลาสติกเกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ประมาณ ๖,๓๐๐ ตัน/วัน (เพิ่มขึ้นประมาณ ร้อยละ 15) จากในช่วงสถานการณ์ปกติมีขยะพลาสติกประมาณ 5,500 ตัน/วัน โดยที่ผ่านมามีการดำเนินโครงการ “Everyday Say No To Plastic Bags” ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 การประกาศมาตรการงดให้ถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ซึ่งมีภาคีเครือข่ายห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อกว่า 90 ราย เข้าร่วมโครงการ และการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับ Platform ของผู้ให้บริการส่งอาหาร อาทิ Grab Food, Line Man, Wongnai, Gojek, Food Panda, Lalamove และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวจากการบริการส่งอาหาร เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563 ช่วยส่งเสริมให้ลดปริมาณขยะตั้งแต่ต้นทาง (บ้านเรือน)

ของเสียอันตรายจากชุมชน ปี 2563 เกิดขึ้นประมาณ 658,651 ตัน (เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ร้อยละ 1.6)
ส่วนใหญ่เป็นซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 428,113 ตัน (ร้อยละ 65) และของเสียอันตรายประเภทอื่นๆ เช่น แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย ภาชนะบรรจุสารเคมี กระป๋องสเปรย์ ประมาณ 230,538 ตัน (ร้อยละ 35) ผลจากนโยบายภาครัฐที่สนับสนุนให้มีการจัดการวางระบบการจัดการของเสียอันตรายจากชุมชน โดยให้ อปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีจุดรวบรวมของเสียอันตรายในชุมชนและมีศูนย์รวบรวมในระดับจังหวัด ทำให้ของเสียอันตรายจากชุมชนได้รับการจัดการอย่างถูกต้องประมาณ 121,695 ตัน (ร้อยละ 18.5 ของปริมาณของเสียอันตรายชุมชนที่เกิดขึ้น) ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาแต่ยังคงเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก จังหวัดที่มีการดำเนินงานด้านการจัดการของเสียอันตรายจากชุมชนอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ 5 อันดับแรก ได้แก่ เชียงราย อ่างทอง อุบลราชธานี ระยอง และนครศรีธรรมราช ตามลำดับ สาเหตุหลักที่การจัดการของเสียอันตรายจากชุมชนอย่างถูกต้องยังอยู่ในสัดส่วนที่น้อย เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มีการคัดแยกของเสียอันตรายจากชุมชนออกจากขยะทั่วไป และยังขาดความตระหนักรู้ ประกอบกับ อปท. ยังไม่มีการบังคับใช้กฎระเบียบรองรับในการจัดการของเสียอันตรายจากชุมชน รวมถึงยังไม่มีกฎหมายที่จะนำมากำกับดูแลในการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยแนวทางการจัดการของเสียอันตรายจากชุมชน เพิ่มจุดรับ (Drop Point) ของเสียอันตรายชุมชนในระดับชุมชนและระดับจังหวัด สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการบริหารจัดการของเสียอันตรายจากชุมชน และผลักดันการออกร่าง พ.ร.บ. การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ….

มูลฝอยติดเชื้อ ปี 2563 เกิดขึ้น 47,962 ตัน (ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 10) โดยเกิดจากโรงพยาบาล
ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลสังกัดกรมวิชาการภายใต้กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงอื่น โรงพยาบาลเอกชน คลินิกเอกชน สถานพยาบาลสัตว์ และห้องปฏิบัติการเชื้ออันตราย ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง 47,440 ตัน (ร้อยละ 98.91) แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ทำให้มีมูลฝอยติดเชื้อเป็นจำนวนมากทั้งจากกิจกรรมการรักษาพยาบาล การตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ในสถานพยาบาล การเฝ้าระวังโรคและการตรวจวิเคราะห์ของห้องปฏิบัติการเชื้ออันตราย รวมถึงสถานพยาบาลชั่วคราวที่ได้มีการจัดตั้งขึ้น และสถานที่ซึ่งจัดไว้สำหรับการกักกันหรือผู้แยกสังเกตอาการ แต่ปริมาณมูลฝอยติดเชื้อในภาพรวมของประเทศกลับมีปริมาณลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (กรมอนามัย, 2563) ทั้งนี้กรมควบคุมมลพิษ ได้จัดทำข้อแนะนำเบื้องต้นในการจัดการหน้ากากอนามัยใช้แล้ว เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันการแพร่ระบาดให้กับ อปท. และประชาชนทั่วไป รวมทั้งได้จัดทำแบบสำรวจข้อมูลปริมาณหน้ากากอนามัยทีใช้แล้ว โดยประสานให้ อปท. รายงานข้อมูลปริมาณหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว ผ่าน QR Code เป็นรายเดือน พบว่าปริมาณหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว ระหว่างวันที่ 1 เมษายน- 31 ธันวาคม 63 มีปริมาณ 17.89 ตัน โดยวิธีการจัดการหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว ได้แก่ นำไปทิ้งในบ่อฝังกลบมูลฝอยทั่วไป ร้อยละ 25.01 เผาในเตาเผาขยะติดเชื้อของ อปท. ในพื้นที่ ร้อยละ 9.40 เผาในเตาเผาขยะติดเชื้อของ อปท. ในพื้นที่ใกล้เคียง ร้อยละ 5.60 จัดจ้างบริษัทเอกชนที่รับกำจัดมูลฝอยติดเชื้อเพื่อนำไปกำจัด ร้อยละ 8.52 วิธีอื่น ๆ เช่น รวบรวมส่งให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และโรงพยาบาลในพื้นที่ รวบรวมส่งให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดนำไปกำจัด ราดน้ำยาฆ่าเชื้อเเล้วนำไปเผา และส่งต่อให้หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ดำเนินการกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ร้อยละ 51.47

นอกจากนี้ การจัดการมลพิษจำเป็นต้องมีการบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษ โดยมีการบูรณาการบังคับใช้กฎหมายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการแจ้งรายชื่อแหล่งกำเนิดมลพิษที่ระบายน้ำทิ้งที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานออกสู่สิ่งแวดล้อม เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลตามอำนาจหน้าที่บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และแหล่งกำเนิดมลพิษปฏิบัติตามกฎหมายเพิ่มมากขึ้น มีการเสริมสร้างศักยภาพการจัดการน้ำเสีย โดยการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ด้านการดูแลรักษา และปรับปรุงแก้ไขระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อให้สามารถบำบัดน้ำเสียได้ตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด โดยผลจากการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษ ในปี 2563     มีดังนี้

ตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษ เข้าตรวจสอบแหล่งกำเนิดมลพิษในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล รวมจำนวนทั้งสิ้น 581 แห่ง แบ่งเป็น อาคารบางประเภทและบางขนาดของเอกชน จำนวน 295 แห่ง มีน้ำทิ้งเป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ร้อยละ 40.81 น้ำทิ้งไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ร้อยละ 59.19 และอาคารบางประเภทและบางขนาดของหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 286 แห่ง น้ำทิ้งเป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดร้อยละ 38.73 น้ำทิ้งไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ร้อยละ 61.27

 เรื่องร้องเรียนด้านมลพิษ มีเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 718 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2562 (469 เรื่อง) ดำเนินการแล้วเสร็จ 524 เรื่อง (ร้อยละ 73) ปัญหามลพิษที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุด คือ กลิ่นเหม็น (ร้อยละ 42) รองลงมาคือฝุ่นละออง/เขม่าควัน (ร้อยละ 30) และเสียงดัง/เสียงรบกวน (ร้อยละ 14) โดยแหล่งที่มาของปัญหาเรื่องร้องเรียนมากที่สุดยังคงเป็นโรงงาน (ร้อยละ 47) รองลงมา คือ สถานประกอบการ (ร้อยละ 26) สำหรับการประเมินความพึงพอใจผู้ร้องเรียนมีความพึงพอใจต่อการให้บริการคำปรึกษา แนะนำและการรับแจ้งปัญหา ร้อยละ 98 และพึงพอใจต่อการแก้ไขปัญหา ร้อยละ 75

ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งส่วนกลางและหน่วยพิทักษ์สิ่งแวดล้อมทั้ง 16 หน่วยจะบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 4 (ศปป.4 กอ.รมน.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม การทุจริตในภาครัฐ และหน่วยงานท้องถิ่น เป็นต้น ปฏิบัติภารกิจในการติดตามตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตาม ตรวจสอบ แก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้านมลพิษ ตามข้อสั่งการและข้อเสนอแนะจากคณะอำนวยการศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมาศูนย์ปฏิบัติการพิทักสิ่งแวดล้อม ได้เข้าตรวจสอบและแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนด้านมลพิษ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนอย่างรุนแรง เช่น

  • ปัญหากลิ่นเหม็นจากการรั่วไหลของสารเคมี ภายในโรงงานของบริษัท ไมด้า วัน จำกัด จังหวัดฉะเชิงเทรา
  • กรณีแหล่งน้ำใช้และพื้นที่การเกษตรของประชาชนปนเปื้อนน้ำเสียจากการประกอบกิจการของโรงงานบริษัท วินโพรเสส จำกัด จังหวัดระยอง
  • กรณีคุณภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำกลุ่มน้ำโจนที่ 16 มีสภาพเป็นกรดซึ่งปนเปื้อนจากการประกอบกิจการ
    ของโรงงานอุตสาหกรรม จังหวัดฉะเชิงเทรา

 

 

Skip to content