pcd.go.th
ขนาดอักษร |
คพ. ฟื้นฟูคลิตี้ระยะแรกแล้วเสร็จ กำหนดแผนการฟื้นฟูระยะที่สองอย่างต่อเนื่อง

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้เปิดเผยว่า ตามที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๖ ให้ คพ. แก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วบริเวณห้วยคลิตี้ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี โดยได้กำหนดให้จัดทำแผนงาน วิธีการ และดำเนินการฟื้นฟู ตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำ จนกระทั่งไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งภายหลังจากที่ได้รับคำพิพากษา คพ. ได้กำหนดแผนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วบริเวณห้วยคลิตี้ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามกรอบเวลาที่กำหนด อีกทั้งยังได้ว่าจ้างคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นให้เป็นที่ปรึกษาเพื่อกำหนดแนวทางการฟื้นฟูพื้นที่คลิตี้ทางวิศวกรรมที่เหมาะสมและได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน และต่อมาได้ว่าจ้างบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ให้เป็นผู้ดำเนินโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ฯ ตามผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยได้ดำเนินการโครงการฟื้นฟูฯ มาตั้งแต่วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ในระยะเวลาที่ผ่านมาที่ผ่านมา ได้ขุดลอกตะกอนในลำห้วยคลิตี้และหน้าฝายรวมปริมาณทั้งสิ้น ๓๗,๗๒๐ ตัน ขุดลอกดินข้างตลิ่งที่มีปริมาณตะกั่วสูงกว่า ๒๐,๐๐๐ มก./กก. รวม ๒๐,๒๐๐ ตัน นำกากแร่และดินปนเปื้อนไปบรรจุในหลุมฝังกลบรวม ๑๒,๖๘๐ ตัน และนำกากแร่และดินปนเปื้อนไปปรับเสถียรก่อนการฝังกลบรวม ๒๐,๙๕๐ ตัน อีกทั้งยังได้สร้างฝายหินทิ้งเพิ่มเติมเพื่อทำหน้าที่ในการดักตะกอนที่มีปริมาณตะกั่วสูงในลำห้วยอีกจำนวน ๒ แห่ง

โดย คพ. ได้จัดประชุมเพื่อชี้แจงผลการดำเนินงานของโครงการฯ พร้อมกับได้รับฟังความคิดเห็นต่อขอบเขตการดำเนินงานของโครงการฯ ระยะที่ ๒ ร่วมกับคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อติดตามการดำเนินโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว จังหวัดกาญจนบุรี (คณะกรรมการไตรภาคีฯ) เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ณ วัดคลิตี้ล่าง ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ที่ผ่านมา ซึ่งจากการติดตามตรวจสอบของ คพ. พบว่าคุณภาพสิ่งแวดล้อมของพื้นที่คลิตี้มีแนวโน้มดีขึ้น ซึ่งชาวบ้านได้เสนอให้ คพ. ลงพื้นที่เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวบ้านที่เป็นเจ้าของพื้นที่ก่อนเริ่มโครงการระยะที่ ๒ ปรับปรุงวิธีการสื่อสารกับชาวบ้าน ชี้แจงกำหนดการและแผนการดำเนินงานในพื้นที่ให้ชัดเจน กำหนดระยะเวลาดำเนินงานครอบคลุมในช่วงฤดูฝนให้เหมาะสม และให้มีการประชาคมหมู่บ้านเพื่อรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม

สำหรับประเด็นที่มีการเผยแพร่จดหมายเปิดผนึกในนามของคณะทำงานศึกษาและติดตามการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ ซึ่งได้เรียกร้องให้มีทบทวนปัญหาการของโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ระยะที่ ๑ และระงับการดำเนินโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ระยะที่ ๒ ไว้ก่อนนั้น คพ. ขอแจ้งให้ทราบว่า คพ. ได้ประชุมทำความเข้าใจร่วมกับคณะทำงานฯ เมื่อวันพุธที่ ๓ มีนาคม ๒๕๖๔ แล้ว และขอชี้แจง ดังนี้

  • ประเด็นที่อ้างผลการตรวจสอบของกรมควบคุมมลพิษว่า ภายหลังการดำเนินโครงการ ปริมาณตะกั่วในลำห้วยและริมตลิ่งบริเวณคลิตี้ล่าง มีปริมาณตะกั่วก่อนดำเนินการฟื้นฟูที่ ๒๐,๑๘๐ มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (มก./กก.) และหลังดำเนินการฟื้นฟูมีปริมาณตะกั่ว ๑๔,๖๔๑ มก./กก. ที่ค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ ๙๕ (๙๕%UCL) มาจากการวิเคราะห์ด้วยเครื่อง X-ray Fluorescence (XRF) ซึ่งไม่ใช่วิธีมาตรฐานและไม่สามารถนำมาใช้ประเมินผลการฟื้นฟูตามกฎหมายได้ นั้น ขอชี้แจงว่าการวิเคราะห์ปริมาณ
  • ตะกั่วในตะกอนดินและดินในโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว จังหวัดกาญจนบุรี นั้น ได้กำหนดให้ใช้เครื่อง X-ray Fluorescence (XRF) ซึ่งเป็นวิธีการวิเคราะห์ที่ได้ผลวิเคราะห์ที่รวดเร็วและครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่และได้รับความนิยมสูงในปัจจุบัน ร่วมกับการวิเคราะห์ตามมาตรฐานในห้องปฏิบัติการซึ่งมีความแม่นยำสูง โดย คพ. ได้มีการเทียบผลการตรวจสอบจากทั้งสองวิธีเข้าด้วยกัน โดยอ้างอิงวิธีการทำงานในภาคสนามของ Interstate Technology & Regulatory Council แห่งสหรัฐอเมริกา ดังนั้นค่าที่รายงานจึงเป็นค่าที่เชื่อถือได้
  • ประเด็นที่อ้างว่าการกำหนดค่าเป้าหมายของการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ไม่เหมาะสมนั้น คพ. ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานวิชาการเพื่อกำหนดค่าเป้าหมายการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว จังหวัดกาญจนบุรี ขึ้น เพื่อพิจารณาข้อมูล กำหนดแนวทาง และให้ข้อเสนอแนะในการกำหนดค่าเป้าหมายสำหรับการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ซึ่งคณะทำงานได้มีการประชุมหารือไปแล้วในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา และ คพ. อยู่ในระหว่างการเก็บข้อมูลการรับสัมผัสของคนในพื้นที่เพื่อประเมินระดับการปนเปื้อนที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การกำหนดค่าเป้าหมายตามลักษณะพื้นที่ที่มีการปนเปื้อน และการยืนยันค่าพื้นฐาน (background level) ของผลการศึกษาที่ผ่านมา ตามความเห็นของคณะทำงานวิชาการเพื่อกำหนดค่าเป้าหมายการฟื้นฟูฯ
  • ประเด็นที่อ้างว่าการประเมินความเสี่ยงการปนเปื้อนสารตะกั่วของเด็กในหมู่บ้านคลิตี้โดยใช้ค่าการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยและริมตลิ่งบริเวณคลิตี้บน มีค่าความเชื่อมั่นรวม (UCL) หลังดำเนินการฟื้นฟู ๑๕,๒๗๒ มก./กก. จะทำให้มีเด็กในชุมชนคลิตี้ที่มีปริมาณสารตะกั่วในเลือดเกิน ๑๐ ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร ถึงเกือบร้อยละ ๙๐ นั้น คพ. ขอชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นการคาดการณ์ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริงของพื้นที่ และประเด็นที่กล่าวว่าการตรวจวัดสารตะกั่วในเลือดของเด็กในหมู่บ้านคลิตี้บนและคลิตี้ล่าง จำนวน ๓๕๕ คน ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรีในปี ๒๕๖๓ มีจำนวนเกินค่ามาตรฐานถึงร้อยละ ๕๙.๓ นั้น เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน โดยข้อเท็จจริง คือ ร้อยละของปริมาณตะกั่วในเลือดที่มีค่าเกินมาตรฐานของเด็กในหมู่บ้านคลิตี้ ที่ตรวจวัดเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๖๒ โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรีและได้มีการรายงานในปี ๒๕๖๓ อยู่ที่ร้อยละ ๔๐.๘๕ ส่วนผลการตรวจวัดปริมาณตะกั่วในเลือดที่มีค่าเกินมาตรฐานของเด็กในหมู่บ้านคลิตี้เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๖๓ และรายงานผลเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๖๔ จำนวนเกินค่ามาตรฐานที่ประมาณร้อยละ ๓๐ ดังนั้น การอ้างอิงตัวเลขดังกล่าวจึงไม่เป็นข้อเท็จจริง และการคาดการณ์ข้างต้นของคณะทำงานฯ มีความคลาดเคลื่อนสูงมากและเป็นการทำให้สถานการณ์ของพื้นที่มีความร้ายแรงเกินความเป็นจริง เนื่องจากในความเป็นจริงนั้น ปริมาณตะกั่วในเลือดของชาวบ้านคลิตี้มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องและค่าเฉลี่ยของปริมาณตะกั่วในเลือดของชาวบ้านเข้าใกล้ค่ามาตรฐานที่ ๑๐ ไมโครกรัมต่อเดซิลิตรแล้วในปัจจุบัน
  • ประเด็นที่ได้สรุปว่าโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว จังหวัดกาญจนบุรี ของ คพ. เป็นโครงการไม่สำเร็จนั้น เป็นการกล่าวหาที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ เนื่องจากการดำเนินโครงการฯ เพิ่งแล้วเสร็จและอยู่ระหว่างการตรวจรับงาน ประกอบกับผลการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมและผลการตรวจวัดปริมาณตะกั่วในเลือดของประชาชนในพื้นที่คลิตี้มีแนวโน้มดีขึ้นโดยลำดับ ซึ่งเป็นข้อมูลที่สามารถยืนยันได้ว่าการดำเนินโครงการฯ ส่งผลให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนในพื้นที่ดีขึ้น

อนึ่ง ชาวบ้านคลิตี้ ได้จัดเวทีประชาคมเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อการดำเนินโครงการฯ ระยะที่ ๒ ในวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ วัดคลิตี้ผลธรรมมาราม ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี มีผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วยผู้ใหญ่บ้านคลิตี้ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลชะแล ผู้แทนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี ผู้แทนอุทยานลำคลองงู และชาวบ้านคลิตี้บนและคลิตี้ล่างจำนวนรวมประมาณ ๗๐ คน โดยชาวบ้านได้ส่วนใหญ่มีความเห็นสนับสนุนการดำเนินโครงการฯ

ระยะที่ ๒ ซึ่งเป็นการจัดการกองกากแร่ที่ถูกทิ้งไว้ในพื้นที่ชุมชน โดยการนำไปบรรจุยังหลุมฝังกลบแบบปลอดภัย ทั้งนี้ คพ. ได้วางแผนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อขอใช้พื้นที่ รวมทั้งประสานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลทางสุขภาพและเรียนเชิญสำนักบังคับคดี สำนักงานศาลปกครองร่วมลงพื้นที่เพื่อประเมินผลการดำเนินงานที่ผ่านมาตามลำดับ

Skip to content