pcd.go.th
ขนาดอักษร |
“วราวุธ” สั่งเข้ม ยกระดับ เฝ้าระวัง ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ภาคเหนือ เป็นพิเศษ ช่วง มี.ค. – เม.ย. นี้

วันที่ 19 มีนาคม 2565 เวลา 09.30 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธานการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM2.5 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) และคณะผู้บริหารกระทรวงฯ ณ ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน (ส่วนหน้า) ทส. อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และผ่านระบบ VDO Conference ไปยังหน่วยงานในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ โดยมี นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ให้การต้อนรับ

โดยรับฟังรายงานการเตรียมความพร้อมแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM2.5 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จากนายจงคล้าย วรพงศธร รองปลัดกระทรวงฯ ตลอดจนรับฟังรายงานสถานการณ์และการเตรียมความพร้อมการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ โดย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ การเตรียมความพร้อมการแก้ไขปัญหาไฟป่า และหมอกควันในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และการเตรียมความพร้อมการแก้ไขปัญหาไฟป่า และหมอกควันในพื้นที่ป่าสงวน โดยอธิบดีกรมป่าไม้

รมว.ทส. เน้นย้ำถึงความห่วงใยและการให้ความสำคัญของรัฐบาล โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน ด้วยการบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ผ่านกลไกคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และ แผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2565  “1 สื่อสาร 5 ป้องกัน 3 เผชิญเหตุ”

พร้อมกันนี้ ได้แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะในช่วงเดือน มี.ค. – เม.ย. 2565 กำชับให้เฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยยกระดับการทำงานเฝ้าระวัง ป้องกัน แก้ไข และควบคุมไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ในทุกมิติ ให้ทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะในระดับพื้นที่ ใช้บทเรียนที่ได้จากการดำเนินงานที่ผ่านมา เป็นองค์ความรู้ในการกำหนดแผนงาน และการปฏิบัติการ นำไปสู่การป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันอย่างยั่งยืน เน้นย้ำให้ศูนย์ปฏิบัติการฯ กำกับการวางกลยุทธ์การป้องกัน ควบคุม และดับไฟป่า สั่งการเคลื่อนย้ายกำลังพล ของ ทส. เพื่อเตรียมความพร้อม และปฏิบัติการ รวมทั้งสนธิกำลังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ดูแลความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ขณะปฏิบัติงานอย่างสูงสุด อีกทั้งให้หน่วยงาน ทส. ในจังหวัด/ภูมิภาค สนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองระดับจังหวัดอย่างเต็มที่ ด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง รวดเร็ว ทันเหตุการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดจุดความร้อน (Hot spot) และการพยากรณ์ปัญหาฝุ่นละอองล่วงหน้า

นอกจากนี้ ให้ ทสจ. ประสานผู้ว่าราชการจังหวัด หรือ ปภ. จังหวัด ออกประกาศช่วงห้ามเผาหรืองดเว้นการเผา พร้อมบทลงโทษตามกฎหมาย รวมทั้งกำหนดเขตความรับผิดชอบ และมอบหมายการปฏิบัติที่ชัดเจน และให้มีศูนย์การปฏิบัติการป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่า และหมอกควันระดับตำบล และหมู่บ้าน โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงรณรงค์ ทำความเข้าใจกับเครือข่ายและประชาชนทุกช่องทาง โดยเฉพาะกลุ่มคนเผาป่า ให้เกิดจิตสำนึก เข้าใจ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ร่วมเฝ้าระวัง สอดส่องดูแล แจ้งจับผู้กระทำผิด ให้ประชาชนรับรู้และเกรงกลัวกฎหมาย รวมทั้งระดมภาคประชาชนจากกลุ่มมวลชนของหน่วยงาน ทส. สนับสนุนการปฏิบัติงานของศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าฯ โดยให้ ทสม. เป็นแกนนำ ร่วมกับอาสาสมัครป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่า และเครือข่ายอื่นๆในพื้นที่

พร้อมกันนี้ ให้ขยายการดำเนินงานโครงการ “ชิงเก็บ ลดเผา” บริหารจัดการเชื้อเพลิงให้ครอบคลุมพื้นที่ป่า พื้นที่เกษตร พื้นที่ชุมชน และพื้นที่ริมทาง เป้าหมาย รวม 3,000 ตัน และเร่งรัดดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง บริษัท SCG กับ ทส. ให้เป็นรูปธรรม เพื่อสร้างรายได้และแรงจูงใจให้เกิดความร่วมมือ ตลอดจนเตรียมความพร้อมของเครื่องมือและอุปกรณ์ให้มีสภาพดี มีประสิทธิภาพ พร้อมใช้งานตลอดเวลา

ส่วนปัญหาหมอกควันข้ามแดน ให้กรมควบคุมมลพิษประสานประเทศเพื่อนบ้านอย่างใกล้ชิด ดำเนินการตามข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน โดยเฉพาะการบรรจุเป้าหมายลดจุดความร้อนในอาเซียนให้ได้ร้อยละ 20 รวมถึง ชี้แจงและขอความร่วมมือประเด็นหมอกควันข้ามแดนในเวทีการประชุมต่างๆ และหากมีปัญหาหมอกควันข้ามแดนในจังหวัด ให้ ทสจ.รายงาน สป.ทส. และ คพ.  ทั้งนี้ ขอให้ทุกหน่วยงานคำนึงว่า ป่าไม้ทุกตารางเมตรเป็นของประชาชน ทส. มีหน้าที่ดูแลรักษา ป้องกัน ไม่ให้เกิดไฟป่า ขอให้ร่วมมือร่วมใจเป็น “ทส. หนึ่งเดียว” เฝ้าระวัง ควบคุม ช่วยดับไฟป่า ส่วนพื้นที่ถูกไฟไหม้ ให้เร่งฟื้นฟูภายในฤดูฝนนี้

สำหรับ สถานการณ์จุดความร้อน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ตั้งแต่เดือน ม.ค. – 18 มี.ค.2565  พบจุดความร้อน (Hot spot) ลดลงร้อยละ 69 จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 โดย 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน เกิดจุดความร้อนในพื้นที่ป่าเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนล่างเกิดจุดความร้อนในพื้นที่เกษตรเป็นส่วนใหญ่ และประเทศไทย มีจำนวนจุดความร้อนลดลงมากที่สุด ในอนุภูมิภาคแม่โขง 5 ประเทศ (เมียนมา กัมพูชา ไทย สปป.ลาว และเวียดนาม) ส่วนสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 จากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ พบมีค่าเฉลี่ย ลดลงร้อยละ 38 และจำนวนวันที่มีค่า PM2.5 เกินมาตรฐาน ลดลงร้อยละ 43

แหล่งที่มา : กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


ส่วนสื่อสารองค์กรกรมควบคุมมลพิษ โทรศัพท์ 022982065-69 โทรสาร 022985108

Skip to content