pcd.go.th
ขนาดอักษร |
“พัชรวาท” เดินหน้าเตรียมพร้อมรับมือแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5″

วันนี้ (27 กันยายน 2566) พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ร่วมหารือกับ นายบัณฑูร เศรษฐศิโรจน์ ประธานคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนร่างกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาด โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ และผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เข้าร่วมหารือ ณ ห้องประชุมชั้น 20 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่น PM2.5 ในภาพรวมที่ครอบคลุมทั้งมิติสิ่งแวดล้อม มิติสุขภาพ และมิติเศรษฐกิจ เพื่อวางแนวทางการแก้ปัญหาทั้งในเชิงระบบและเชิงโครงสร้าง รวมทั้งหารือถึงข้อจำกัดในด้านการบริหารงานของภาครัฐ ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากร และปัญหาด้านการกำกับระบบตลาดเสรี

โดยในการประชุมหารือ ได้พิจารณาข้อเสนอแนะแนวทางการบริหารจัดการ 7 ข้อ ได้แก่ การจัดการระบบ Big Data เพื่อการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 การมีหน่วยงานหรือกลไกประสานและดำเนินการจัดการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เป็นกลไกการทำงานอย่างต่อเนื่อง การประสานเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันในระดับกระทรวง และคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ที่แต่งตั้งขึ้นตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การสร้างระบบและเครือข่ายการทำงานร่วมกับภาคเอกชนและภาควิชาการ การจัดระบบงบประมาณเพื่อการป้องกัน เผชิญเหตุ และฟื้นฟู เยียวยา ทั้งในระยะเร่งด่วน อาทิ การจัดสรรงบกลาง งบลงทุนภาคเอกชน และเงินกู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และในระยะเร่งรัด รวมถึงการบูรณาการงบประมาณเพื่อการขับเคลื่อนการทำงานตามแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการด้านฝุ่นละอองอย่างมีประสิทธิภาพ การแก้ไขปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน การสื่อสารสาธารณะในทุกช่องทาง เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ส่งเสริมความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา ลดความสับสนของข้อมูลฝุ่น PM2.5 และปรับลดพฤติกรรมหรือกิจกรรมที่เป็นสาเหตุของปัญหาฝุ่น PM2.5

นอกจากนี้ ยังมี 5 ข้อเสนอ แนวทางการจัดการปัญหารายสาขาตามแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ในภาคเกษตรกรรม กรณีข้าวโพด นาข้าว และอ้อย ภาคคมนาคมขนส่ง และปัญหาฝุ่นควันข้ามแดน โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นวางเป้าหมายจัดการในพื้นที่ไฟไหม้มากที่สุดในปี 2566 เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดไฟที่ลักลอบเผาในพื้นที่ป่า พร้อมทั้งสนับสนุนการขับเคลื่อนร่างกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาด และสนับสนุนการเข้าร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการร่วมกันแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 แบบ Win-Win และ Quick Win ซึ่งจะเป็นเป้าหมายในระยะยาวเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาต่อไป

Skip to content