pcd.go.th
ขนาดอักษร |
“พัชรวาท” ตรวจฝุ่น PM 2.5 ภาคอุตสาหกรรม-เกษตรกรรม ปทุมธานี ชื่นชมผู้ว่าฯ จัดการปัญหาแบบเอาอยู่ ยกสวนอุตสาหกรรมบางกะดี ต้นแบบจัดการสิ่งแวดล้อม ขอบคุณชาวนาตื่นตัวลดการเผา

เมื่อวันที่ 30 มี.ค. พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย ร.อ. รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวง นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงฯ น.ส.ปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เดินทางลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ฝุ่นPM 2.5 ที่จังหวัดปทุมธานี พร้อมเยี่ยมชมการดำเนินงานของโครงการสวนอุตสาหกรรมบางกะดี มีนายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัทสวนอุตสาหกรรมบางกะดี จำกัด พล.ต.ท. คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารจังหวัดปทุมธานี ให้การต้อนรับ ภายหลังเยี่ยมชมสวนอุตสากรรมบางกะดีแล้วเสร็จ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด ของบริษัท วีอาร์พี ดีเวลลอปเม้นท์ โฮลดิ้ง จำกัด และแปลงนาสาธิตการทำนาปลอดการเผาใจ

 

พล.ต.อ. พัชรวาท เปิดเผยว่า วันนี้ได้มาตรวจเยี่ยมและติดตามปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของจังหวัดปทุมธานี ซึ่งบริหารจัดการได้ดีมาก ภายใต้การดูแลของผู้ว่าฯ ปทุมธานี โดยที่ปทุมธานีมีพื้นที่การทำนาถึง 67 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด อีกทั้งมีโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 3,400 แห่ง แต่ยังสามารถบริหารจัดการคุณภาพอากาศให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยเฉพาะสวนอุตสาหกรรมที่มี 38 โรงงาน แต่สามารถบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างดีเยี่ยม มีระบบบำบัดอากาศทำให้ไม่ส่งผลกระทบด้านฝุ่น สามารถอยู่ร่วมกับชุมชน และยังเป็นต้นแบบโครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ส่วนการดูงานโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดที่กรมควบคุมมลพิษ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ บริษัท วีอาร์พี ดีเวลลอปเม้นท์ โฮลดิ้ง จำกัด สนับสนุนให้มีการพัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการป้องกันและลดการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อลดปัญหาฝุ่นPM 2.5 โดยนำเศษวัสดุการเกษตร ได้แก่ ฟางข้าว ใบอ้อย ไม้ไผ่ต้นและซังข้าวโพด เปลือก มะพร้าว และเศษต้นไม้อื่นๆ มาอัดเม็ด ทำให้สามารถลดปริมาณฝุ่นและส่งขายให้กับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ส่วนแปลงนาปลอดการเผานับเป็นความร่วมมือที่ดีจากชาวนาปทุมธานี เพราะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดปริมาณฝุ่น PM2.5 ให้กับกรุงเทพฯ และปริมณฑล

 

“กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ พยายามบูรณาการแก้ปัญหากับทุกภาคส่วนเพื่อลดปริมาณฝุ่นPM 2.5 ควบคู่กับการส่งเสริมภาคเกษตรกรรมปลอดการเผาอย่างเป็นอย่างเป็นรูปธรรม สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมนำเศษวัสดุเหลือใช้มาผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด เป็นแนวทาวช่วยลดการเผา ขณะเดียวกันปัญหานี้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือกับทุกฝ่ายด้วย”

แหล่งข้อมูล : กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

Skip to content