วันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ณ ห้องประชุมสโมสรยอดทัพ กองพลทหารราบที่ 7 อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
นายกรัฐมนตรีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร มอบนโยบายและสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมความพร้อมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ปี 2568 โดยนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการเพื่อการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง ได้กล่าวถึงสถานการณ์ฝุ่นซึ่งจะเริ่มสูงขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวจากปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยา และเพิ่มขึ้นเมื่อมีการระบายฝุ่นจากแหล่งกำเนิดต่างๆ โดยแหล่งกำเนิดหลักร้อยละ 70 มาจากการเผาในพื้นที่ป่า รองลงมาเป็นพื้นที่เกษตร ร้อยละ 24 และเขตเมืองใหญ่ ซึ่งมาจากยานพาหนะโดยเฉพาะรถยนต์ดีเซล และช่วงเช้าวันนี้ ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ได้เห็นชอบกับมาตรการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง ประจำปี 2568
ในช่วงบ่ายหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้รายงานความพร้อมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น PM2.5 ได้แก่ การควบคุมการนำเข้าและไม่รับซื้อสินค้าเกษตรที่มาจากการเผา โดยกระทรวงพาณิชย์ ความร่วมมือการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนภายใต้ยุทธศาสตร์ฟ้าใส (CLEAR Sky Strategy) โดยกระทรวงการต่างประเทศ การลดอ้อยลักลอบเผา โดยกระทรวงอุตสาหกรรม การปลูกพืชแบบ low carbon โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การปฏิบัติการและการควบคุมไฟป่า 14 กลุ่มป่า การสนับสนุนกำลังพล ยุทโธปกรณ์และเครื่องมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกองทัพภาคที่ 3 การเฝ้าระวังและเตือนภัยต่อประชาชน การใช้เทคโนโลยีในการตรวจจับจุดความร้อนจากการเผา โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และสำนักงานเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ และกรมควบคุมมลพิษ ได้รายงานสถานการณ์ฝุ่น ณ ปัจจุบัน และการคาดการณ์ในอนาคต ซึ่งมีแนวโน้มจะไม่รุนแรง ด้วยปรากฎการณ์ลานีญา และการกำหนดเป้าหมายการลดจุดความร้อนและพื้นที่เผาไหม้ รวมถึงการกำกับ ควบคุมตามที่หน่วยงานต่างๆ ได้รายงานต่อนายกรัฐมนตรี
นายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้กล่าวว่าฝุ่นละออง PM2.5 เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งทุกหน่วยงานต้องดำเนินการอย่างเข้มข้น เนื่องจากจะเป็นการพิสูจน์การทำงานของทุกหน่วยงาน หากเราไม่สามารถจัดการกับปัญหาฝุ่นให้ดี จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรฐกิจ การส่งเสริมการท่องเที่ยว และที่สำคัญคือ สุขภาพอนามัยของพี่น้องประชาชน นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งจากประชาชน ภาคเอกชน ความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน
อย่างเช่น หากเกษตรกรให้ความร่วมมือ ให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พิจารณาการช่วยเหลือหรือให้แรงจูงใจ การให้ความรู้กับเกษตรกร โดยเฉพาะการแปรรูป และใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อเป็นการสร้างรายได้ แทนที่จะให้เงินทดแทนการไม่เผา ซึ่งจะไม่ยั่งยืน ในส่วนการดูแลไฟป่า หากมีแนวโน้มจะเกิดเหตุต้องรีบไปเข้าไปดำเนินการ และต้องดูแลเจ้าหน้าที่ไม่ให้ได้รับอันตราย
กระทรวงการต่างประเทศต้องติดตามความร่วมมือการจัดการหมอกควันของประเทศเพื่อนบ้าน ให้รายงานคณะรัฐมนตรีเป็นระยะ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้พัฒนาเทคโนโลยีการเตือนภัยประชาชนทั้งในประเทศ รวมถึงนักท่องเที่ยวเพื่อการปกป้องสุขภาพ ให้มีระบบสายด่วน การติดต่อระหว่างภาครัฐกับประชาชน
นายกรัฐมนตรีได้แสดงความตั้งใจที่อยากทำเรื่องนี้ให้บรรลุผล เพราะปีที่แล้ว ลดจุดความร้อนได้กว่าร้อยละ 50 และมั่นใจว่าด้วยการบูรณาการ การทำงานของทุกภาคส่วน ปีนี้จะต้องทำได้ดียิ่งกว่าเดิม
ภายหลังมอบนโยบาย นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี คณะผู้บริหารระดับสูงของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมตรวจเยี่ยมความพร้อมของยุทโธปกรณ์ เครื่องมือ ให้กำลังใจกับกำลังพล อาสาสมัครดับไฟป่า ซึ่งเสียสละเป็นแนวหน้าในการเผชิญเหตุ ดับไฟป่า