pcd.go.th
ขนาดอักษร |

          กรมควบคุมมลพิษ เป็นหน่วยงานระดับกรม ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2535 อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 โดยให้ยุบสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และปรับปรุงเป็นส่วนราชการใหม่ 3 กรม ได้แก่ กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและพลังงาน ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
          ต่อมาในปี 2545 ได้มีพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 จัดตั้ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงโอนมาสังกัดกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2545
          ต่อมา ในปี 2561 ได้มีการทบทวนบทบาทภารกิจให้สอดคล้องกับภารกิจที่เพิ่มขึ้นและเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป จึงได้ปรับปรุงการแบ่งส่วนราชการ หน้าที่และอํานาจ ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ ของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วันที่ 20 กรกฎาคม 2561
          ต่อมา ในปี 2565 ได้มีการทบทวนบทบาทภารกิจด้านการจัดการมลพิษ ของกรม พบว่าภารกิจดังกล่าว ครอบคลุมทั่วประเทศ แต่โครงสร้างหน่วยงาน และอัตรากำลัง ไม่สอดคล้องกับสภาวะปัญหามลพิษ ส่งผลให้การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอันเนื่องมาจากปัญหามลพิษ รวมถึงการวางแผน มาตรฐาน มาตรการ การติดตามตรวจสอบ และการบังคับใช้กฎหมาย ไม่สามารถดำเนินการได้สอดคล้องกับสถานการณ์และสภาพปัญหา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงมี มติ ให้ตัดโอน สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 1-16 มาจัดตั้งเป็น สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษ 1-16 ภายใต้สังกัดกรมควบคุมมลพิษ ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ ของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วันที่ 20 กรกฎาคม 2565 โดยกรมมีภารกิจเกี่ยวกับการควบคุม กำกับ ดูแล อำนวยการ ประสานงาน ติดตาม และประเมินผลเกี่ยวกับการคุ้มครองและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยให้มี หน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้

อำนาจหน้าที่

  1. เสนอความเห็นเพื่อจัดทำนโยบายและแผนการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติด้านการควบคุมมลพิษ
  2. เสนอแนะการกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม และมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด
  3. จัดทำแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้านการจัดการมลพิษ และมาตรการในการควบคุมป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากภาวะมลพิษ
  4. ติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม และจัดทำรายงานสถานการณ์มลพิษ
  5. พัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยี กฎหมาย และทดสอบตัวอย่างสิ่งแวดล้อม เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดการกากของเสีย สารอันตราย คุณภาพน้ำ อากาศ ระดับเสียง และความสั่นสะเทือน
  6. ประสานเพื่อให้มีการดำเนินการฟื้นฟู ระงับเหตุที่อาจเป็นอันตรายจากมลพิษในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนมลพิษ
  7. ให้ความช่วยเหลือและคำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับการจัดการมลพิษ รวมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีและให้บริการข้อมูลสารสนเทศด้านการจัดการมลพิษ
  8. ประสานความร่วมมือกับต่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศในด้านการจัดการมลพิษ
  9. ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องร้องทุกข์ด้านมลพิษ
  10. ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติด้านการควบคุมมลพิษและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

บทบาทและภารกิจทั่วไป

          บทบาทและภารกิจทั่วไป ซึ่งถือปฏิบัติตามบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 โดยให้อำนาจคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการควบคุมมลพิษ และเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษ ในการบังคับใช้มาตรการต่างๆ ตามกฎหมาย เพื่อประโยชน์ในการควบคุม ป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากภาวะมลพิษ ได้แก่ การเสนอความเห็นในการจัดทำนโยบายด้านการควบคุมมลพิษของประเทศ การกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม (มาตรฐานคุณภาพน้ำในแม่น้ำลำคลอง น้ำทะเลชายฝั่ง คุณภาพอากาศในบรรยากาศ ฯลฯ) (การกำหนดมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด (มาตรฐานน้ำทิ้งจากอาคารต่างๆ น้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม และนิคมอุตสาหกรรม มาตรฐานไอเสียจาก ยานพาหนะต่างๆ ฯลฯ) การจัดทำแผนการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม และมาตรการควบคุมมลพิษ (การจัดการขยะมูลฝอย การจัดการของเสียอันตราย การประกาศเขตควบคุมมลพิษ ฯลฯ) การติดตามตรวจสอบสถานการณ์มลพิษ รับเรื่องราวร้องทุกข์ด้านมลพิษ และดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้านการควบคุมมลพิษ

          บทบาทและภารกิจดังกล่าวตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.ราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มิได้มีเจตนารมณ์ที่จะให้กรมควบคุมมลพิษมีอำนาจลบล้างหรือเข้าแทนที่อำนาจการจัดการน้ำเสียหรือของเสียอื่นๆ ที่ออกตามกฎหมายอื่นหรือของหน่วยงานอื่น แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีหน่วยงานรับผิดชอบด้านการควบคุมมลพิษโดยเฉพาะ เพื่อสนับสนุนและผลักดันการดำเนินงานของหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมายที่มีอยู่เดิม และอุดช่องว่างในกรณีที่ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ ตัวอย่างเช่น เจ้าพนักงานควบคุมมลพิษแม้มีอำนาจเข้าไปทำการตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรม หากพบว่ามีการละเมิดหรือฝ่าฝืนกฎหมายก็ไม่มีอำนาจดำเนินการตามกฎหมายได้ทันที แต่มีหน้าที่ต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจหน้าที่โดยตรงตามกฎหมายโรงงานให้เป็นผู้ดำเนินการ ต่อเมื่อปรากฎว่าเจ้าพนักงานดังกล่าวไม่ดำเนินการแก่ผู้กระทำผิดภายในเวลาอันสมควร เจ้าพนักงานควบคุมมลพิษจึงจะมีอำนาจดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตนตามกฎหมาย หรือกรณีการกำหนดมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายอื่นก็สามารถดำเนินการได้ แต่มาตรฐานดังกล่าวต้องเข้มงวดกว่ามาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดที่ออกตาม พ.ร.บ.ราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เป็นต้น

วิสัยทัศน์

  • น้ำต้องสะอาด อากาศต้องบริสุทธิ์ หยุดปัญหามลพิษ เพื่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

พันธกิจ

  1. พัฒนากฎหมาย มาตรฐาน เครื่องมือ และกลไกในการจัดการมลพิษที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจ และสังคม
  2. กำกับ ดูแล บังคับใช้กฎหมายเพื่อพิทักษ์สิ่งแวดล้อม
  3. ติดตาม ตรวจสอบ ประเมิน เฝ้าระวัง แจ้งเตือน และรายงานสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมและมลพิษ
  4. สร้างการรับรู้ สร้างภาคีเครือข่าย เพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการจัดการมลพิษ
  5. พัฒนาศักยภาพบุคลากร เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการจัดการสิ่งแวดล้อมและมลพิษ
  6. ประสานความร่วมมือและขับเคลื่อนการจัดการมลพิษกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและระหว่างประเทศ

ค่านิยม คพ.

  • ถูกต้อง ทันสมัย โปร่งใส ใส่ใจประชาชน

 

วันที่ : 1 มิถุนายน 2565
เข้าชม : ครั้ง
ข้อมูลโดย : ส่วนพัฒนาและบริหารระบบสารสนเทศ , ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

 


Skip to content