pcd.go.th
ขนาดอักษร |

Q1: ใครเป็นคนรับผิดชอบในการจัดการดูแลน้ำเสียในเขตกรุงเทพมหานคร

A1: สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร

Q2:ชายหาดท่องเที่ยวมีการบำบัดน้ำเสียหรือเปล่า

A2: โดยทั่วไปแล้วแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ในเขตควบคุมมลพิษ เช่น พัทยา ภูเก็ต หัวหิน จะมีระบบบำบัดน้ำเสีย

Q3:ใช้อะไรเป็นเกณฑ์แบ่งคุณภาพน้ำ

A3: การแบ่งเกณฑ์คุณภาพน้ำใช้ ดัชนีคุณภาพน้ำ ซึ่งเกณฑ์คุณภาพน้ำแบ่งได้เป็น 4 เกณฑ์ ได้แก่ ดีมาก ดี เสื่อมโทรม และเสื่อมโทรมมาก ซึ่งจะใช้คะแนนเป็นตัวแบ่งซึ่งได้มากจากการรวมคะแนนดัชนีคุณภาพน้ำ 9 ดัชนี ได้แก่ pH, ออกซิเจนละลายน้ำ (DO), ของแข็งทั้งหมด (TDS), แบคทีเรียกลุ่มฟีคัล (Feacal Coliform), ไนเตรท (NO3), ฟอสเฟต (PO4), ความขุ่น (Turbidity), อุณหภูมิ และ BOD เข้าด้วยกัน

Q4:แหล่งกำเนิดน้ำเสียที่สำคัญมีอะไรบ้าง

A4: แหล่งกำเนิดน้ำเสียที่สำคัญสามารถแบ่งเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 3 ประเภทได้แก่

  • ชุมชน
  • อุตสาหกรรม
  • เกษตรกรรม
Q5:ประชาชนจะช่วยแก้ไขปัญหามลพิษทางน้ำได้อย่างไร

A5: ช่วยเป็นหูเป็นตาในการแจ้งแหล่งกำเนิดมลพิษและแจ้งการทำผิดกฎหมายแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยลดมลพิษโดยการไม่ทิ้งขยะลงในแหล่งน้ำหรือนำน้ำที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่

Q6:ที่ไหนรับตรวจสอบคุณภาพน้ำบ้าง

A6: กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมมลพิษ กรมวิทยาศาสตร์บริการ และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ

Q7:กรมควบคุมมลพิษมีหน้าที่อะไรบ้างเกี่ยวกับคุณภาพน้ำ

A7: กรมควบคุมมลพิษมีโดยกองจัดการคุณภาพน้ำมีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอความเห็นเพื่อจัดทำนโยบายและแผนหลักในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการมลพิษทางน้ำ จัดทำแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้านมลพิษ ประสานการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษด้านมลพิษทางน้ำ จัดทำแผนปฏิบัติการฉุกเฉิน ประสานการปฏิบัติการ ควบคุม แก้ไขภาวะมลพิษทางน้ำ ฟื้นฟูและประเมินความเสียหายของแหล่งน้ำที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางน้ำ เสนอแนะมาตรฐาน มาตรการ หลักเกณฑ์ และวิธีการควบคุมมลพิษทางน้ำ ติดตาม ตรวจสอบคุณภาพน้ำ จัดทำรายงานสถานการณ์ด้านมลพิษทางน้ำ พัฒนาระบบ รูปแบบ หลักเกณฑ์ปฏิบัติ และวิธีการที่เหมาะสมในการลดมลพิษทางน้ำ ตลอดจนร่วมมือและดำเนินมาตรการระหว่างประเทศด้านการจัดการคุณภาพน้ำ

Q8:ระบบบำบัดน้ำเสียที่สร้างแล้วใช้ได้ผลหรือไม่

A8: ในขณะนี้มีระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนทั้งหมด 63 แห่งที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว ซึ่งผลการประเมินสถานภาพการเดินระบบบำบัดน้ำเสีย พบว่าอยู่ในเกณฑ์ดี 13 แห่ง พอใช้ 39 แห่ง และต่ำ 11 แห่ง ซึ่งระบบบำบัดน้ำเสียที่อยู่ในเกณฑ์พอใช้และต่ำไม่สามารถใช้การได้ดีเนื่องจากมีการขัดข้องของอุปกรณ์ ความไม่สมบูรณ์ของระบบและบางที่เกิดจากการขาดบุคลากร

Q9:ในอนาคตจะมีการเก็บค่าบำบัดน้ำเสียจริงหรือ ใช้เกณฑ์อะไร

A9: จริง โดยค่าบำบัดน้ำเสียจะคิดตามค่าดำเนินการระบบและปริมาณการใช้น้ำ

Q10:รู้ได้อย่างไรว่าน้ำเสียมาก

A10: อุณหภูมิ: ควรอยู่ระหว่าง 23 – 32 องศาเซลเซียส ค่าความเป็นกรด-ด่าง อยู่ระหว่าง 5 – 9 หน่วย

ค่าความเค็มของน้ำ: ปกติแหล่งน้ำจะเริ่มมีรสเค็มที่ระดับความเค็มประมาณ 0.5 ppt ซึ่งเริ่มไม่เหมาะจะนำมาใช้เพื่อการประปา ขณะที่ความเค็มประมาณ 1 ppt ไม่เหมาะจะนำมาใช้เพื่อการชลประทาน นอกจากนี้ ค่าความเค็มมีค่าเกินกว่า 7 ppt จะไม่เหมาะต่อการเพาะเลี้ยงและการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำจืด

ปริมาณของแข็งแขวนลอยในน้ำ (Suspended Solid, SS): แหล่งน้ำที่ให้ผลผลิตทางการประมงที่ดีควรมีค่าแขวนลอยอยู่ในช่วง 25-80 มิลลิกรัมต่อลิตร ถ้ามีค่ามากกว่า 400 มิลลิกรัมต่อลิตร มักจะใช้เลี้ยงปลาไม่ได้ผล นอกจากนี้ แหล่งน้ำที่เหมาะจะนำมาใช้ สำหรับการผลิตน้ำประปาโดยตรง ควรมีค่าสารแขวนลอยไม่เกิน 25 มิลลิกรัมต่อลิตร

ค่าออกซิเจนละลาย (DO): แหล่งน้ำที่เหมาะแก่การดำรงชีวิต การขยายพันธุ์และการอนุรักษ์สัตว์น้ำ ควรมีค่า DO ไม่ต่ำกว่า 5 มก./ลิตร อย่างไรก็ตาม ถ้าปริมาณออกซิเจนละลายน้ำมีค่าต่ำกว่า 2 มก./ลิตร จะไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ และถ้าไม่มีปริมาณ DO จะเกิดปัญหาน้ำเน่าเสียค่าความขุ่นของแหล่งน้ำ: แหล่งน้ำโดยทั่วไปไม่ควรมีค่าความขุ่นเกินกว่า 100 NTU เพราะจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสัตว์และพืชน้ำ นอกจากนี้ จะมีผลต่อระบบการผลิตน้ำประปาที่ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายสำหรับสารเคมีในการกำจัดตะกอนของน้ำ

ฟีคอลโคลิฟอร์ม (Feacal Coliform ): แหล่งน้ำที่เหมาะจะนำมาใช้ในการผลิตประปาและสามารถว่ายน้ำหรือเล่นกีฬาทางน้ำไม่ควรมีค่าปริมาณแบคทีเรียกลุ่มฟีคอลโคลิฟอร์มเกินกว่า 1,000 หน่วย ( mpn ต่อ 100 มิลลิลิตร) ขณะที่แหล่งน้ำที่เหมาะจะอนุรักษ์ไว้เพื่อสำหรับกิจกรรมการเกษตรกรรม ไม่ควรมีค่าปริมาณแบคทีเรียกลุ่มฟีคอลโคลิฟอร์มเกินกว่า 4,000 หน่วย

ฟอสเฟต: โดยทั่วไปปริมาณฟอสฟอรัสที่จะก่อปัญหาต่อแหล่งน้ำจะมีความสัมพันธ์กับปริมาณไนโตรเจนเสมอ โดยฟอสฟอรัสจะเป็นปัจจัยหลักและมีไนโตรเจนเป็นปัจจัยรอง และแหล่งน้ำที่มีค่าฟอสฟอรัสทั้งหมดอยู่ระหว่าง 0.05 – 1 มก./ลิตร หรือมากกว่า และแหล่งน้ำเสื่อมโทรมมักมีค่าฟอสฟอรัสทั้งหมดเกินกว่า 0.6 มก./ลิตร ขึ้นไป

ไนเตรท: โดยทั่วไปปริมาณไนเตรท-ไนโตรเจน จะเปลี่ยนรูปมาจากแอมโมเนีย-ไนโตรเจน ในแหล่งน้ำ โดยแบคทีเรียกลุ่ม autotrophic nitrifying ซึ่งแหล่งน้ำที่มีความสกปรกสูงและมีการปนเปื้อนอย่างสม่ำเสมอมักตรวจพบไนเตรท-ไนโตรเจนในปริมาณสูง แหล่งน้ำที่ตรวจพบปริมาณไนเตรท-ไนโตรเจนสูงย่อมแสดงว่ามีการปนเปื้อนจากของเสียหรือสิ่งสกปรกจากชุมชน หรือมีการชะล้างหน้าดินในพื้นที่เกษตรกรรมในปริมาณสูง ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อการนำน้ำมาใช้ในการบริโภคหรือการผลิตน้ำประปา ทำให้เกิดโรคระบบโลหิต เรียกว่า Methemoglobinemia
อย่างไรก็ตามค่าเหล่านี้เป็นเพียงค่าเบื้องต้นเท่านั้น ถ้าต้องการดูอย่างละเอียดต้องไปดูที่มาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน กรมควบคุมมลพิษ ปี 2543

Q11: มีการตรวจสอบเชื้อโรคในน้ำหรือเปล่า

A11: ในขณะนี้ที่กรมควบคุมมลพิษมีเพียงการตรวจสอบแบคทีเรียในน้ำเท่านั้น ได้แก่ Coliform Bacteria ซึ่งการตรวจแบคทีเรียชนิดนี้ในแหล่งน้ำจะแสดงถึงความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนหรือแพร่กระจายของเชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหารในแหล่งน้ำ เช่น โรคอหิวาตกโรค บิด ไทฟอยด์ หรือ อุจจาระร่วง เป็นต้น

Q12: น้ำเสียมีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง

A12: โรคที่เกิดจากการอุปโภคบริโภคน้ำเสียมีสาเหตุมาจาก

  • เชื้อโรค  เช่น โรคอหิวาตกโรค ท้องร่วง ไทฟอยด์ และโรคผิวหนัง
  • สารพิษ   เช่น อิไต อิไต (จากแคดเมียม) มะเร็ง (จากสารหนูและยาฆ่าแมลง) และ มินามาตะ (จากปรอท)
  • โลหะหนัก  เช่น ท้องร่วง
Q13:น้ำเสียจะนำไปใช้ประโยชน์ได้หรือไม่อย่างไร

A13: น้ำเสียที่บำบัดแล้วในระดับหนึ่ง เช่น น้ำเสียจากระบบบำบัดน้ำเสียจากชุมชน หรือโรงงานอุตสาหกรรมบางประเภท สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเกษตร ยกตัวอย่างเช่น น้ำเสียที่เทศบาลนครเชียงใหม่ได้นำไปใช้ในการเพาะปลูกในช่วงประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะพืชผักและไม้ดอกมาเจริญเติบโตได้ดีและมีการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าผลผลิตปลอดภัย หลายประเทศได้มีการนำไปใช้อย่างแพร่หลาย เช่น จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา เป็นต้น ดร.เสนีย์ กาญจนวงศ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้สรุปผลการวิจัยการนำน้ำเสียไปใช้ในการเกษตรในการปลูกข้าว ผักคะน้า และดอกแอสเตอร์นั้น ให้ผลในการเจริญเติบโตของพืชไม่แตกต่างจากการใช้น้ำธรรมชาติ และมีการวิเคราะห์ว่าปลอดภัยสามารถนำไปบริโภคได้

Q14:น้ำเสียมีผลกระทบอย่างไร

A14:

  • มีสีและกลิ่นที่น่ารังเกียจไม่สามารถใช้อุปโภคบริโภค
  • เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตทั้งในน้ำและในบริเวณใกล้เคียง ทำให้เสียความสมดุลทางธรรมชาติ เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม
  • เป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน เพราะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของเชื้อโรค และเป็นพาหนะนำโรคต่าง ๆ สู่มนุษย์ สัตว์ และพืช
  • ทำลายทัศนียภาพ โดยเฉพาะแหล่งน้ำที่ใช้ในการคมนาคมและแหล่งท่องเที่ยว
  • เป็นปัญหาต่อกระบวนการผลิตน้ำประปา ทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงคุณภาพน้ำเพิ่มมากขึ้น กรณีอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนในเดือนสิ่งหาคม 2544 มีผลทำให้น้ำขุ่นเพิ่มขึ้นและการประปานครหลวงจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นค่าสารเคมีในการปรับปรุงคุณภาพน้ำเพิ่มขึ้น ประมาณวันละ 300,000 บาท
Q15:อยากทราบหลักเกณฑ์การสังเกตนี้ด้วยตาเปล่าว่ามีอะไรเป็นตัวชีวัดว่าน้ำในแหล่งน้ำนั้นมีคุณภาพอย่างไร

A15: คุณภาพน้ำสามารถสังเกตได้จาก สี กลิ่น ความขุ่น อุณหภูมิ และจากตัวชี้วัดทางชีวภาพ นั่นคือ น้ำที่มีคุณภาพดีต้องใส ปราศจากสี และกลิ่น แหล่งน้ำใดที่มีความขุ่นสูง ย่อมแสดงว่ามีการส่องผ่านของแสงน้อย ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากตะกอนดิน สาหร่าย หรือสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่แขวนลอยในน้ำ นอกจากนี้ยังสามารถสังเกตได้จาก สัตว์น้ำซึ่งอาจอยู่ในแหล่งน้ำสะอาดเท่านั้น อาทิเช่น แมลงน้ำตก แมงชีปะขาว หนอนปลอกน้ำ เป็นต้น

การสังเกตด้วยตาเปล่าสามารถบอกถึงคุณภาพน้ำได้คร่าว ๆ เท่านั้น ซึ่งบางครั้งการใช้คุณลักษณะใด ลักษณะหนึ่งไม่สามารถบอกได้ เช่น น้ำใสไม่มีสีอาจจะเจือปนไปด้วยกรด ซึ่งเป็นสารเคมีที่ไม่มีสีเช่นกัน และสามารถบอกถึงคุณภาพน้ำได้จากการวัดค่าความเป็นกรด – ด่าง เท่านั้น ดังนั้นการชี้วัดคุณภาพน้ำจึงควรกระทำโดยใช้ตัวชี้วัดหลายตัวอย่างร่วมกัน

Q16:ค่าไนเตรทของน้ำเสียที่ออกจากระบบบำบัดมีค่าสูงกว่าไนเตรทที่เข้าระบบมีสาเหตุ
เนื่องมาจากอะไร
A16: เนื่องจากในน้ำเสียมีสารอินทรีย์ไนโตรเจน (Org-N) และเกิดปฏิกิริยา Nitrification ขึ้นระหว่างกระบวนการบำบัด โดยจุลินทรีย์ที่ต้องการออกซิเจน เปลี่ยนแอมโมเนียม (NH 4+) เป็นไนไตรท์ (NO2-) และไนเตรท (NO3-) ตามลำดับ
Q17:น้ำที่ผ่านระบบบำบัดน้ำเสียแบบแอกทิเวเต็ดสลัดจ์ (Activated Sludge Process) ถือเป็นน้ำดีหรือไม่

A17: ต้องตรวจสอบพารามิเตอร์ต่างๆ ของน้ำที่ปล่องน้ำเสีย หากน้ำทิ้งนั้นผ่านค่ามาตรฐานก็ถือว่าสามารถนำไปใช้ประโยชน์ตามที่มาตรฐานกำหนดได้ค่ะ แต่หากน้ำทิ้งนั้นไม่ผ่านค่ามาตรฐานก็ต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการบำบัดของระบบ

Q18:ทำไมมีปลาตายอยู่ในน้ำคลอง เพราะดูสภาพน้ำแล้วไม่เน่าเสีย อาจมีสีเขียวขุ่นบ้างแต่ไม่มีกลิ่นเหม็น

A18: การที่ปลาตายและน้ำมีสีเขียวขุ่นอาจสันนิษฐานได้ว่า

  1. มีสาหร่ายปริมาณมากเกินไปในน้ำทิ้ง ส่งผลต่อค่าออกซิเจนลดต่ำลงเวลากลางคืน ทำให้มีปลาตายอยู่ในน้ำคูคลอง
  2. มีสารเคมีหรือสารพิษปนเปื้อน
Q19:เมื่อมีน้ำเสียในบ่อจะมีวิธีการบำบัดได้ด้วยวิธีใด จึงจะเหมาะสมที่สุดและมีความเป็นไปได้มากที่สุดในทางปฏิบัติ

A19: วิธีแก้ไข ถ้าบ่อไม่ใหญ่ก็อาจสูบออกโดยให้นำน้ำส่วนที่เสียไปเข้าระบบที่ผ่านระบบบำบัดน้ำเสีย หลังจากนั้นคงต้องปรับสภาพทางกายภาพให้สะอาด และห้ามทิ้งน้ำเสียลงในบ่ออีก รองรับเฉพาะน้ำฝนหรือน้ำจากแหล่งน้ำที่สะอาด หรืออาจมีการเติมอากาศด้วยเครื่องเติมอากาศ หรือทำน้ำพุเพื่อความสวยงาม คุณภาพน้ำก็จะดีขึ้นและสามารถใช้ประโยชน์ได้ แต่ถ้าบ่อใหญ่มากคงต้องค่อยๆ ทำโดยกันน้ำเสียไม่ให้เข้าบ่ออีก ทำความสะอาดทางกายภาพ และต้องมีการเติมอากาศด้วยเครื่องเติมอากาศ ปรับสภาพความเป็นกรด-ด่างของน้ำ ฯลฯ
โดยทำอย่างต่อเนื่องและสังเกตความเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้วิธีที่ว่าไม่รวมถึงการปนเปื้อนของสารเคมีหรือโลหะหนักต่างๆ ในน้ำ (ถ้ามี) ซึ่งต้องระวังในการนำไปใช้ประโยชน์ด้วย

Q20: อัตราการไหลของน้ำเสียที่เข้าระบบบำบัดมากกว่าค่าที่ผู้ออกแบบได้ออกแบบไว้
ประมาณ 1 เท่า ทำให้ระยะเวลาเก็บกักน้ำ (Hydraulic Retention Time; HRT)
มีค่าต่ำ ควรปรับปรุงระบบอย่างไร
A20: ถ้าสามารถปรับปรุงระบบได้ใน 2 ลักษณะ คือ

  1. การเพิ่ม HRT อาจทำได้โดย ปรับปรุงให้ระบบมีการไหลแบบ Plug Flow กล่าวคือ อาจทำคันดินในบ่อเพิ่มขึ้นเพื่อให้การไหลเวียนของน้ำในระบบยาวนานขึ้น
  2. หากสามารถเพิ่มเติมระบบบำบัดฯที่ทำให้ คุณภาพน้ำเสียดีกว่าเดิมที่คำนวณไว้ตอนขาเข้าระบบ อาจทำให้ HRT ที่มีอยู่เพียงพอ ทั้งนี้ควรนำรายละเอียดในการออกแบบประกอบกับลักษณะน้ำเสียจากโรงงาน มาพิจารณาประกอบว่าวิธีการใดจะเหมาะสมทั้งทางด้านเทคนิคและด้านเศรษฐศาสตร์กว่ากัน
Q21:ระบบบำบัดที่ใช้เป็นแบบบ่อผึ่ง (Stabilization Pond)
พบว่ามีตะกอนแขวนลอยสูงจะใช้สารเคมีตัวใด ลดได้ และจะใส่ในอัตราเท่าใด
A21: ระบบบำบัดน้ำเสียทั่วไปมักได้รับการออกแบบไว้เผื่อการขยายตัวเป็นระยะเวลา 20 ปี ทำให้บ่อมีขนาดใหญ่มีเวลาเก็บกักน้ำเสียนาน และเกิดสาหร่ายเจริญมาก (Algae Bloom) แม้สารเคมีที่สามารถกำจัดสาหร่ายได้จำพวก CuSO4  แต่มักใช้ในกระบวนการผลิตน้ำบางประเภทไม่นิยมใช้ในการบำบัดน้ำเสีย เพราะต้องใช้เป็นจำนวนมากและยังรบกวนกระบวนการบำบัดทางชีวภาพ ปัญหานี้ควรปรับปรุงด้วยการเดินระบบฯ ให้ระยะเวลาเก็บกักน้ำเสียสั้นลง เช่น ลดผนังกั้นน้ำหรือระดับฝายน้ำล้นหรือหมุนเวียนน้ำในระบบบำบัด และกำจัดปัจจัยที่ส่งเสริมการเจริญของสาหร่าย เช่น การบังแสงแดด เป็นต้น
Q22:ตะกอนเต็มบ่อหากต้องการขุดตะกอนออก ควรขุดออกเท่าใด และเหลือไว้เท่าใด
กรณีบ่อตกตะกอนและบ่อแอนแอโรบิค (Anaerobic Pond)
A22: บ่อตกตะกอนสามารถขุดตะกอนออกได้ทั้งหมด สำหรับบ่อแอนแอโรบิคควรมีตะกอนเหลืออยู่ปริมาณที่มีค่า F/M
(Food/Microorganism) ประมาณ 0.1-0.2
Q23: หากต้องการใช้ Effective Microorganisms ;EM ในการบำบัดน้ำเสียแบบบ่อผึ่ง (Stabilization Pond) จะได้หรือไม่

A23: จุดประสงค์หลักในการลดกลิ่นและลดไขมัน แต่ไม่ได้ใช้งานหลักในการบำบัดน้ำเสีย

Q24:อยากทราบข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อ Effective Microorganisms (EM) ว่าจะนำมาใช้กับระบบบำบัดนำเสียแบบแอกทิเวเต็ดสลัดจ์ (Activated Sludge Process) ได้หรือไม่

A24: จากรายงานการศึกษาผลกระทบการใช้สาร EM ในสิ่งแวดล้อม (2546) พบว่าการเติม EM ในน้ำเสียจะช่วยให้เกิดการย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสียได้เร็วขึ้น แต่บางครั้งอาจไม่ได้ผลมาก จากค่าความสกปรกของน้ำมีมากเกิน จุลินทรีย์จะบำบัดได้ แต่โดยทั่วไประบบ AS ไม่จำเป็นต้องเติม EM เนื่องจากระบบต้องมีการสูบกลับ (Return Sludge) อยู่แล้ว แต่หากจะเติม EM ส่วนใหญ่จะเติม Start up ระบบใหม่ๆ เพราะการเติม EM จะเพิ่มจุลินทรีย์ที่ใช้ในการย่อยสลาย ดังนั้นการเติม EM จะต้องคำนวณปริมาณหรือความเข้มข้นของ EM ให้เหมาะสมกับสภาพของน้ำ (F/M ratio)


Skip to content