pcd.go.th
ขนาดอักษร |
Q1: ผลการดำเนินงานการตรวจสอบตรวจจับและห้ามใช้รถยนต์ควันดำ ระยะที่ 1 บนถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินเป็นอย่างไร

A1: จากรถยนต์ที่ถูกเรียกตรวจทั้งหมด 631 คัน มีรถยนต์ที่ถูกคำสั่ง “ห้ามใช้ชั่วคราว” ทั้งสิ้น 321 คัน และจากการดำเนินการยกเลิกเครื่องหมายห้ามใช้ ณ สถานีตำรวจนครบาลคู่ขนานลอยฟ้า ถนนบรมราชชนนี ระหว่างวันที่ 18 กันยายน 2546 – 19 มกราคม 2547 พบว่า ได้มีผู้ขับขี่นำรถยนต์ไปขอยกเลิกคำสั่งแล้ว 288 คัน หรือคิดเป็นร้อยละ 90 ดังนั้น จึงคงเหลือรถยนต์ที่ถูกคำสั่งห้ามใช้ชั่วคราวจำนวน 33 คัน หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ซึ่งขณะนี้รถยนต์ดังกล่าวได้ครบกำหนดให้แก้ไขปรับปรุงสภาพเครื่องยนต์ที่กำหนดไว้ 30วันแล้ว ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษ ได้มีหนังสือแจ้งไปยังเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์ดังกล่าวให้นำรถยนต์ที่อยู่ระหว่างถูกคำสั่งห้ามใช้ยานพาหนะมาตรวจสอบเพื่อดำเนินการยกเลิกคำสั่ง ณ สถานีตำรวจนครบาลคู่ขนานลอยฟ้าโดยเร็ว มิฉะนั้นอาจถูกดำเนินการทางกฎหมายหากยังคงใช้รถนั้น ต่อไป ซึ่งในขณะนี้ กรมควบคุมมลพิษ ยังมิได้มีการออกคำสั่ง “ห้ามใช้เด็ดขาด” เนื่องจากยังไม่พบว่ามีเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถยนต์ที่พ้นกำหนดให้แก้ไขปรับปรุงสภาพเครื่องยนต์ นำรถนั้นมาใช้ในทาง และจากการประเมินผลการดำเนิการด้วยการสุ่มตรวจรถยนต์ที่วิ่งผ่านถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ก็พบว่ามีจำนวนรถยนต์ที่มีค่าควันดำเกินมาตรฐานลดลงถึงร้อยละ 37

Q2:ปัญหามลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันมีความรุนแรงมากน้อยอย่างไร

A2: สารมลพิษทางอากาศที่พบเกินมาตรฐาน ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน และก๊าซโอโซน โดยบริเวณริมถนนจะมีฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอนเป็นปัญหาหลัก จากการตรวจวัด 1,951 ครั้ง มีจำนวนครั้งที่เกินมาตรฐาน 71 ครั้ง หรือคิดเป็นร้อยละ 3.6 ส่วนพื้นที่ทั่วไปจะมีปัญหาหลัก คือ ก๊าซโอโซน ซึ่งจากการตรวจวัดทั้งหมด 57,105 ครั้ง มีจำนวนครั้งที่เกินมาตรฐาน 130 ครั้ง หรือคิดเป็นร้อยละ 0.23 สำหรับสารมลพิษประเภทอื่นยังมีปริมาณอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

Q3:การตรวจสอบตรวจจับควันดำ มักใช้เวลาในการดำเนินการ ทำให้เสียเวลา และในกรณีที่เป็นรถโดยสารที่มีผู้โดยสารมาก จะทำให้เสียเวลา จะแก้ไขอย่างไร

A3:การตรวจสอบตรวจจับรถโดยสารประจำทาง จะดำเนินการโดยกรมการขนส่งทางบก โดยจะทำการตรวจสอบบริเวณก่อนเข้าอู่หรือท่ารถโดยสารประจำทาง ซึ่ง ณ จุดนั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อทั้งผู้โดยสารและการจราจรบนท้องถนน

Q4:การตรวจสอบตรวจจับและห้ามใช้รถยนต์ควันดำ ระยะที่ 2 ที่จะเริ่มในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2547 นั้น กรมควบคุมมลพิษจะมีการดำเนินการอย่างไร

A4:
การตรวจสอบตรวจจับและห้ามใช้รถยนต์ควันดำ

กรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับกองบังคับการตำรวจจราจร และกรุงเทพมหานคร จะขยายพื้นที่การตรวจสอบตรวจจับและห้ามใช้รถยนต์ควันดำ ตามจุดตรวจสอบตรวจจับของกองบังคับการตำรวจจราจรที่มีอยู่วันละประมาณ 30 จุด ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2547 เป็นต้นไป โดยใน 2 เดือนแรก กรมควบคุมมลพิษจะส่งชุดปฏิบัติการตรวจสอบตรวจจับหมุนเวียนไปตามจุดตรวจสอบตรวจจับของกองบังคับการตำรวจจราจรซึ่งจะตรวจสอบตรวจจับและห้ามใช้รถยนต์ควันดำได้วันละ 4 จุด จากทั้งหมด 30 จุด เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่กองบังคับการตำรวจจราจร หลังจากนั้น กองบังคับการตำรวจจราจรจะตรวจสอบตรวจจับและห้ามใช้รถยนต์ควันดำให้ครบทั้ง 30 จุดต่อวัน ทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร

การยกเลิกคำสั่งห้ามใช้รถยนต์

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดตั้งสถานที่ยกเลิกคำสั่งห้ามใช้รถยนต์ 7 แห่งทั่ว กทม. โดย

– กรมควบคุมมลพิษ ดำเนินการ 2 แห่ง ได้แก่ กรมควบคุมมลพิษ และสถานีตำรวจนครบาลคู่ขนานลอยฟ้า

– กรุงเทพมหานคร ดำเนินการ 5 แห่ง ดังนี้

1. กองโรงงานช่างกล ถนนมิตรไมตรี ใกล้ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร
2. ศูนย์บริการกองโรงงานช่างกล สาขาประเวศ ถนนศรีนครินทร์
3. ศูนย์บริการกองโรงงานช่างกล สาขาราษฎร์บูรณะ บริเวณสำนักงานเขต ราษฎร์บูรณะ
4. ศูนย์บริการกองโรงงานช่างกล สาขาบางกะปิ ถนนสุขาภิบาล 1
5. ศูนย์บริการกองโรงงานช่างกล สาขาภาษีเจริญ ถนนพุทธมณฑลสาย 3

Q5:ถนนใดที่มีปัญหามลพิษทางอากาศจากยานพาหนะสูง

A5:จากผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศบริเวณริมถนนในพื้นที่กรุงเทพมหานครประจำปี พ.ศ. 2546 พบว่า บริเวณที่มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอนเกินกว่าค่ามาตรฐาน ได้แก่

– ถนนพระราม 6 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
– ถนนพหลโยธิน กรมการขนส่งทางบก
– ถนนพระรามที่ 4 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
– ถนนเยาวราช วงเวียน 22 กรกฏา
– ถนนอินทรพิทักษ์ สถานีการไฟฟ้าย่อยธนบุรี

Q6:สาเหตุของปัญหามลพิษทางอากาศมาจากแหล่งใด

A6: สารมลพิษที่เป็นปัญหาสำคัญในเขตกรุงเทพมหานครคือ ฝุ่นละออง ซึ่งมีแหล่งกำเนิดที่มาจากบนท้องถนน และการก่อสร้าง ทั้งนี้หากเทียบเป็นสัดส่วนของแหล่งที่มาแล้ว จะพบว่า มาจากยานพาหนะ ร้อยละ 40 กิจกรรมการก่อสร้างและอุตสาหกรรม ร้อยละ 40 และกิจกรรมอื่น ๆ ร้อยละ 20 ทั้งนี้ ถ้าวิเคราะห์ถึงยานพาหนะเพียงอย่างเดียวจะพบว่า ร้อยละ 80 มาจากรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลนอกจากนี้ ลักษณะทางกายภาพของกรุงเทพมหานคร ยังเอื้อต่อการทำให้บดบังทิศทางลม ที่จะช่วยให้มีการถ่ายเท เจือจาง หรือพัดพาสารมลพิษ มลพิษจึงมีการสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถนนที่มีการจราจรคับคั่ง และสภาพสองข้างทางที่มีอาคารเรียงรายล้อมรอบอย่างหนาแน่น

Q7:ในการตรวจวัดค่าควันดำ ทำไมต้องต้องวัดแบบกดหรือเหยียบคันเร่งจนสุด ซึ่งโดยทั่วไปแล้วไม่ใช่ลักษณะการขับขี่ตามปกติวิสัย

A7: ในการใช้งานปกติ รถยนต์จะมีการบรรทุกคนหรือสิ่งของและอยู่ในอัตราความเร็วระดับหนึ่ง แต่การที่เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบรถยนต์ขณะอยู่ในตำแหน่งเกียร์ว่างและจอดสนิทอยู่กับที่นั้น รถยนต์หรือเครื่องยนต์ไม่ได้มีภาระดังกล่าว ดังนั้น การเร่งเครื่องยนต์อย่างรวดเร็วจนสุดคันเร่งพร้อมกับวัดค่าควันดำโดยทันทีนั้น เป็นวิธีการเพื่อจำลองหรือชดเชยภาระของรถยนต์ที่ควรจะมีอยู่ในขณะใช้งานจริง ทั้งนี้ การตรวจสอบด้วยวิธีการกดหรือเหยียบคันเร่งจนสุดก็เป็นวิธีการที่เป็นที่ยอมรับและใช้กันอยู่ในต่างประเทศ อาทิเช่น สหรัฐอเมริกา

Q8:การตรวจสภาพรถยนต์ก่อนจดทะเบียนรถหรือต่อทะเบียนรถประจำปีของกรมการขนส่งทางบกก็มีการตรวจสอบค่าควันดำอยู่แล้ว ทำไมจึงต้องมีการตรวจวัดตามบริเวณริมถนนอีก เป็นการทำงานซ้ำซ้อนของเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่

A8: แม้ว่ากรมการขนส่งทางบกจะมีการตรวจสอบสภาพรถยนต์ก่อนที่จะจดทะเบียนหรือต่อทะเบียนรถประจำปีอยู่แล้วนั้น หากรถยนต์ที่ผ่านการตรวจวัดมลพิษดังกล่าวมีการใช้งานหนัก มีการปรับแต่งเครื่องยนต์ที่ไม่เหมาะสม หรือไม่บำรุงรักษาและดูแลเป็นอย่างดีแล้ว อาจก่อให้เกิดควันดำที่สูงกว่าค่ามาตรฐาน ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนที่สัญจรตามท้องถนนและบ้านเรือนในบริเวณใกล้เคียง ดังนั้นการปฏิบัติหน้าที่บริเวณริมถนน จึงเป็นการตรวจติดตามผลการปฏิบัติตามกฎหมาย และเสริมการทำงานของหน่วยงานรัฐอื่นๆ เพื่อให้ปริมาณรถยนต์ที่ปล่อยควันดำลดลง

Q9:ใครเป็นผู้กำหนดวิธีการตรวจวัดควันดำ และมีวิธีการอย่างไร

A9: หน่วยงานที่กำหนดค่ามาตรฐานการปล่อยควันดำและวิธีการตรวจวัด คือ กระทรวง วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม เดิม (ปัจจุบันคือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) ซึ่งสรุปได้ดังนี้ การตรวจวัดควันดำจากรถยนต์ดีเซล โดยทั่วไปใช้เครื่องมือระบบกระดาษกรอง และมีวิธีการตรวจวัดสองวิธี คือ วิธีแรกตรวจวัดขณะเครื่องยนต์มีภาระ และอยู่บนเครื่องทดสอบ ซึ่งปล่อยมลพิษเทียบเท่ากับรถยนต์ที่ขับเคลื่อนบนถนน และวิธีที่สอง ตรวจขณะเครื่องยนต์จอดนิ่ง ซึ่งเป็นวิธีการที่เจ้าหน้าที่เรียกตรวจวัดควันดำบนท้องถนนทั่วไป วิธีการทั้ง 2 มีความแตกต่างกัน กล่าวคือ วิธีที่สองซึ่งตรวจวัดโดยการให้รถยนต์จอดอยู่กับที่จะปล่อยมลพิษสูงกว่าวิธีแรก หรือสูงกว่าการขับขี่ในท้องถนนจริง ดังนั้น ค่ามาตรฐานควันดำจึงไม่เท่ากัน โดยวิธีการแรกกำหนดไว้ที่ร้อยละ 40 ส่วนวิธีการหลังกำหนดไว้ที่ร้อยละ 50การตรวจวัดควันดำของรถยนต์ริมถนนจะต้องเป็นไปตามวิธีการและขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเริ่มจากจอดรถอยู่กับที่ในตำแหน่งเกียร์ว่าง เร่งเครื่องยนต์อย่างรวดเร็วจนสุดคันเร่งแล้วปล่อยคันเร่ง โดยจะเก็บตัวอย่างควันดำลงบนกระดาษกรองขณะเริ่มกดคันเร่ง วัดค่าควันดำ 2 ครั้ง ใช้ค่าสูงสุดที่วัดเป็นเกณฑ์ตัดสินและหากค่าควันดำที่วัดได้ทั้งสองครั้งแตกต่างกันเกินกว่าร้อยละ 5 ให้ตรวจวัดใหม่ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะได้ค่าควันดำที่แท้จริงและถูกต้อง ทั้งนี้ วิธีการกดคันเร่ง และจังหวะการกดจะต้องสัมพันธ์กับการทำงานของเครื่องมือ การที่เจ้าหน้าที่ทำการตรวจวัด 2 ครั้ง และมีค่าความแตกต่างไม่เกินร้อยละ 5 เป็นการตรวจสอบความถูกต้องของผลการตรวจวัด ซึ่งน่าจะเป็นวิธีการที่ประชาชนยอมรับได้

Q10:เท่าที่สังเกตรถยนต์ที่ปล่อยควันดำมักเป็นรถร่วมบริการ รถใหญ่ และรถเมล์เล็ก ซึ่งมีสภาพที่เก่า กระทรวงทรัพยากรฯ มีแผนงานหรือแนวทางในการป้องกันแก้ไขปัญหาการปล่อยควันดำจากรถยนต์ดังกล่าว

A10: หากพิจารณาข้อกฎหมายแล้ว จะพบว่า กรมควบคุมมลพิษ มีอำนาจควบคุมดูแลรถยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ อาทิ รถปิกอัพหรือกระบะ รถตู้ เท่านั้น ไม่ครอบคลุมไปถึงรถโดยสารประจำทางที่ซึ่งเป็นรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบก อย่างไรก็ตาม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ ก็ได้ทำการประสานร่วมมือกับกรมการขนส่งทางบกในการควบคุมดูแลรถยนต์เหล่านี้อย่างเข้มงวด โดยในการตรวจสอบตรวจจับและห้ามใช้รถยนต์ควันดำในระยะที่ 2 นี้ กรมควบคุมมลพิษ ก็ได้ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ตรวจสอบตรวจจับและห้ามใช้รถโดยสารประจำทางควันดำอีกทางหนึ่งนอกเหนือจากการควบคุมรถยนต์ควันดำขนาดเล็ก

Q11:รถยนต์ที่ถูกเครื่องหมายห้ามใช้ ต้องดำเนินการอย่างไร และหากฝ่าฝืนจะมีผลอย่างไร

A11: รถยนต์ที่ถูกติดสติกเกอร์ “ห้ามใช้ชั่วคราว” จะไม่สามารถนำมาใช้ในทางหรือนำมาวิ่งบนท้องถนนได้ เว้นแต่จะเป็นไปเพื่อการนำไปซ่อมแซม เท่านั้น ซึ่งหลังจากปรับปรุงแล้วให้นำรถยนต์ดังกล่าวไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ณ สถานีตำรวจนครบาลคู่ขนานลอยฟ้าภายใน 30 วัน นับจากวันที่ถูกติดสติกเกอร์ เมื่อมีค่าควันดำเป็นไปตามมาตรฐาน เจ้าหน้าที่จะดึงสติกเกอร์ออก และสามารถนำมาใช้ต่อได้ตากปกติ แต่ถ้าพ้นกำหนด 30 วันแล้ว รถยนต์ดังกล่าวยังไม่สามารถแก้ไขสภาพที่ก่อให้เกิดควันดำได้ จะถูกติดสติ๊กเกอร์ “ห้ามใช้เด็ดขาด” ซึ่งรถยนต์ดังกล่าวจะไม่สามารถนำมาวิ่งบนท้องถนนอย่างเด็ดขาด เว้นแต่การลากจูงเพื่อนำไปแก้ไขปรับปรุงเครื่องยนต์เท่านั้น ทั้งนี้ ผู้ฝ่าฝืนคำสั่งหรือทำลายสติ๊กเกอร์ของพนักงานเจ้าหน้าที่จะมีโทษตามกฎหมายกำหนด

Q12:เนื่องจากว่ามีรถยนต์จำนวนหนึ่งที่ยังอยู่ระหว่างคำสั่งห้ามใช้ชั่วคราว และเจ้าของไม่นำรถคันดังกล่าวมาขอยกเลิกคำสั่งฯ เมื่อเกินกำหนด 30 วันแล้ว กรมควบคุมมลพิษมีมาตรการใดต่อกรณีเช่นนี้

A12: สำหรับกรณีเช่นนี้ กรมควบคุมมลพิษได้มีหนังสือแจ้งไปยังเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์ให้นำรถยนต์ดังกล่าวมาตรวจสอบเพื่อดำเนินการยกเลิกคำสั่ง ณ สถานที่ยกเลิกคำสั่งห้ามใช้แล้ว แต่เนื่องจากไม่มีกฎหมายใดที่ให้อำนาจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ในการติดตามตรวจสอบกรณีเช่นนี้ กรมควบคุมมลพิษจึงได้ขอความร่วมมือและปรึกษาหารือกับกรมการขนส่งทางบก เพื่อที่จะขออำนาจบางส่วนจากนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก เพื่อให้สามารถเรียกเจ้าของรถยนต์ที่ถูกคำสั่งห้ามใช้รถยนต์มาตรวจสภาพเพื่อยกเลิกคำสั่งห้ามใช้รถยนต์ ซึ่งหากผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งจะต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

Q13:หากพบเห็นรถยนต์ควันดำ จะสามารถแจ้งไปที่หน่วยงานใดได้บ้าง

A13: เมื่อพบเห็นรถยนต์ควันดำ สามารถแจ้งรายละเอียด เช่น หมายเลขทะเบียนรถ วัน เวลา และสถานที่ที่พบเห็น รวมทั้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิด ไปยังหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ เพื่อให้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1) กรมการขนส่งทางบก โทร. 1584
2) กองบังคับการตำรวจจราจร โทร. 1197
3) กรมควบคุมมลพิษ โทร. 1650

Q14:รถยนต์ที่ถูกตรวจพบว่ามีค่าควันดำเกินมาตรฐาน จะสามารถนำรถยนต์คันดังกล่าวไปแก้ไขปรับปรุงได้ที่ใดบ้าง

A14: รถยนต์ที่มีค่าควันดำเกินมาตรฐาน สามารถนำไปแก้ไขปรับปรุงสภาพเครื่องยนต์ได้ที่ศูนย์บริการซ่อมรถยนต์ทั่วไป หรือศูนย์บริการที่มีเครื่องหมาย “คลินิกไอเสียมาตรฐาน” 116 แห่ง ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล และสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลศูนย์บริการที่มีเครื่องหมายคลินิกไอเสียมาตรฐานได้ที่สำนักจัดการคุณภาพอากาศ กรมควบคุมมลพิษ หมายเลขโทรศัพท์ 0 2298 2348

Q15:หน่วยงานใดที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบตรวจจับรถยนต์ควันดำบริเวณริมถนน และอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานมีความแตกต่างกันอย่างไร

A15: ปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่ามีกฎหมายหลักอย่างน้อย 4 ฉบับที่ใช้สำหรับกำกับดูแลรถยนต์ที่ก่อให้เกิดควันดำ รวมทั้งมลพิษอื่นๆ ที่เกิดจากรถยนต์ ได้แก่ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 16 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2514 ดังนั้น จึงมีหน่วยงานที่มีบทบาทอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายต่างๆ เหล่านี้ ได้แก่

1) กองบังคับการตำรวจจราจร มีอำนาจหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงานจราจร และพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 16 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2514 ในการควบคุมรถยนต์ทุกชนิด

2) กรมการขนส่งทางบก มีอำนาจหน้าที่ในฐานะผู้ตรวจการตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ในการควบคุมรถยนต์ขนาดใหญ่ เช่น รถโดยสารประจำทาง รถบรรทุก 10 ล้อ เป็นต้น

3) กรมควบคุมมลพิษ และกรุงเทพมหานคร มีอำนาจหน้าที่ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ในการควบคุมรถยนต์ขนาดเล็ก (รถยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์) เช่น รถกระบะหรือรถปิ๊กอัพ รถตู้ส่วนบุคคล เป็นต้น

Q16:รัฐบาลมีมาตรการในภาพรวมอย่างไรเกี่ยวกับปัญหามลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานคร
A16: มาตรการในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในเขตกรุงเทพมหานครนั้น รัฐบาลได้ดำเนินการ ดังนี้1. การกำหนดมาตรฐานการระบายมลพิษจากยานพาหนะทั้งในขณะใช้งานและยานพาหนะใหม่2. การปรับปรุงคุณภาพเชื้อเพลิง กำหนดให้ใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วทั้งประเทศ การลดปริม าณกำมะถัน3. การกำหนดมาตรการควบคุมไอระเหยน้ำมันเบนซินจากสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและคลังน้ำมันเชื้อเพลิงที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งในการควบคุมและลดปริมาณการระบายไอระเหยน้ำมันเบนซินที่เป็นสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายที่เป็นสาเหตุของการเกิดก๊าซโอโซนในบรรยากาศ4. มาตรการในการตรวจสภาพและตรวจจับยานพาหนะที่มีมลพิษเกินมาตรฐานโดยให้มีการตรวจสภาพยานพาหนะตามพระราชบัญญัติรถยนต์ ฯ โดยสถานตรวจสภาพรถเอกชนสำหรับรถยนต์ที่มีอายุเกิน 7 ปี ตรวจสภาพปีละ 2 ครั้ง อายุเกิน 7 ปี ตรวจสภาพปีละ 3 ครั้ง ในกรณียานพาหนะตามพระราชบัญญัติขนส่งทางบก ฯ กำหนดการตรวจสภาพรถยนต์ทุกปีสำหรับรถราชการก็ได้ควบคุมให้ได้รับการดูแลอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดมลพิษ และมีการตรวจวัดควันดำอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง หากพบรถควันดำเกินมาตรฐานก็จะมีการติดตามให้นำรถไปปรับปรุงแก้ไขไม่ให้เป็นแหล่งก่อมลพิษอีก และยังได้มีการตรวจจับยานพาหนะที่มีมลพิษเกินมาตรฐานริมเส้นทางจราจร โดยดำเนินงานร่วมกันระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการขนส่งทางบก กรุงเทพมหานคร และกรมควบคุมมลพิษ รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ตรวจวัดและบริการปรับแต่งเครื่องยนต์ไว้บริการประชาชน พร้อมทั้งบริการให้คำแนะนำการดูแลรักษารถ เพื่อลดมลพิษในกรุงเทพมหานคร จำนวน 5 แห่ง นอกจากนั้น กระทรวงพลังงานยังได้ร่วมกับบริษัทการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และกลุ่มบริษัทรถยนต์จัดตั้งศูนย์บริการตรวจเช็คสภาพเครื่องยนต์ฟรี ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 14 พฤษภาคม 2546 ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานครตลอดจนได้ประชุมหารือแนวทางในการควบคุมรถโดยสารประจำทางควันดำ โดยเฉพาะรถร่วมบริการเอกชน และได้ประสานขอความร่วมมือองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพปลดระวาง จำหน่ายให้เอกชนนำมาทำเป็นรถร่วมบริการอีกและเพิ่มเงื่อนไขสัญญาสัมปทานการเดินรถของเอกชนเพื่อส่งเสริมการลดมลพิษด้วย5. มาตรการในการแก้ไขปัญหามลพิษจากรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพมหานครได้มีการดำเนินมาตรการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การตรวจจับรถโดยสารที่มีการระบายมลพิษเกินมาตรฐาน การให้บริการตรวจวัดมลพิษทางอากาศและเสียงของรถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพที่จะจัดซื้อใหม่ตั้งแต่ปี 2540 ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน EURO II การสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงสะอาด เช่น ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น

6. กำหนดแผนการทดลองการใช้ก๊าซธรรมชาติในรถถังขยะของกรุงเทพมหานคร จำนวน 60 คัน (ตามมติคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้รถราชการใช้ก๊าซธรรมชาติ)

7. จัดโครงการขบวนรถสีเขียว เพื่อลดการใช้ยานพาหนะและการใช้ยานพาหนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการสนับสนุนการใช้ระบบขนส่งมวลชนและการจัดทำคู่มือการจัดหายานพาหนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

8. การปรับปรุงสถานที่หรือก่อให้เกิดมลพิษ

1) ปรับปรุงไหล่ถนน เพื่อลดปริมาณฝุ่นจากถนนอย่างต่อเนื่อง

2) เข้มงวดผ้าใบคลุมตึก เพื่อลดปริมาณฝุ่นจากการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง

3) เพิ่มพื้นที่สีเขียวและการปลูกไม้พุ่มริมทางเท้า เพื่อลดผลกระทบจากฝุ่นโดยได้กำหนดให้ถนนดินสอ เขตพระนคร ช่วงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถึงวัดสุทัศน์เทพวนารามเป็นตัวอย่างถนนแคบ (ความกว้างประมาณ 7 เมตร) ซึ่งมีอาคารพาณิชย์ทั้งสองฝั่งถนนและประชาชนสัญจรเป็นจำนวนมากโดยการปลูกไม้พุ่มริมทางเท้าฝั่งติดกับถนน เป็นกำแพงดูดซับมลพิษและให้มีการล้างถนนอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดฝุ่นบนถนน

4) กวาดล้างถนน โดยเฉพาะถนนที่มีมลพิษสูง สะพานลอยโดยเฉพาะบริเวณทางแยก

5) การควบคุมรถบรรทุกให้ต้องมีผ้าใบคลุมวัสดุที่บรรทุกและล้างล้อรถด้วย

9. การเฝ้าระวังคุณภาพอากาศ

1) เฝ้าระวังคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานครโดยมีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ จำนวน 1 สถานี และรถวัดคุณภาพอากาศ จำนวน 1 คัน และสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ จำนวน 17 สถานี ตลอดจนการรายงานข้อมูลคุณภาพอากาศให้ประชาชนทราบเป็นระยะ

2) ปรับปรุงระบบการจัดการคุณภาพอากาศ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ตลอดจนการเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรเกี่ยวกับการจัดการคุณภาพอากาศ โดยดำเนินโครงการร่วมมือกับเมืองต่างๆ ในเอเชียและยุโรป ได้แก่ โครงการปรับปรุงและสนับสนุนแนวทางการจัดการคุณภาพอากาศในเขตเมือง และโครงการอากาศสะอาดในเอเชีย (CAI-Asia) เป็นต้น

3) จากการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษปี พ.ศ.2545 บริเวณสี่แยกปากซอยอ่อนนุช ถนนสุขุมวิท มีปริมาณมลพิษสูงสุด โดยเฉพาะฝุ่นขนาดเล็ก (PM-10)ตรวจวัดได้ 300 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มาตรฐานฝุ่นขนาดเล็ก (PM-10) ไม่เกิน 120 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร

4) การดำเนินการมาตรการที่ผ่านมา ทำให้คุณภาพอากาศโดยรวมดีขึ้น โดยจากการตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ ฝุ่นขนาดเล็ก (PM-10) เฉลี่ยรายปี 2544 มีค่า 67.90 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ปี 2545 ฝุ่นขนาดเล็ก (PM-10) ลดลง โดยมีค่าเฉลี่ยรายปี 5708 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มาตรฐานฝุ่นขนาดเล็กเฉลี่ยรายปีไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร อย่างไรก็ตาม ฝุ่นขนาดเล็ก(PM-10) โดยเฉพาะริมเส้นทางจราจรบนถนนบางสายฝุ่นขนาดเล็กยังคงเกินมาตรฐาน

10.การประชาสัมพันธ์เพื่อแก้ไขมลภาวะทางอากาศในเขตกรุงเทพมหานคร

1) ประชาสัมพันธ์การบำรุงรักษาเพื่อลดมลพิษในบริเวณจุดตรวจจับรถควันดำ

2) ขอความร่วมมือประชาชนหลีกดลี่ยงถนนที่มีมลพิษสูงอย่างต่อเนื่อง และประสานองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เพื่อพิจารณากำหนดรถโดยสารประจำทางปลอดมลพิษวิ่งบนถนนในเขตพื่นที่ชั้นในซึ่งมีมลพิษสูง

3) ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงมลพิษทางอากาศและวิธีการป้องกันการเกิดมลพิษตลอดจนการส่งเสริมการใช้ยานพาหนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมผ่านสื่อต่าง ๆ ได้แก่ แผ่นพับ วิดีโอ สปอตเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ เป็นต้น

4) ประชาสัมพันธ์การบำรุงรักษารถ เพื่อลดมลพิษ ตลอดจนการสนับสนุนการใช้รถจักรยานยนต์ 4 จังหวะ ครอบคลุม 50 พื้นที่เขต โดยได้มีการจัดคลีนิกรถจักรยานยนต์ ปี พ.ศ. 2543 – 2544 จำนวน 4 ครั้ง มีประชาชนนำรถเข้ารับบริการปรับแต่งเครื่องยนต์ จำนวน 5,113 คัน

 

นอกจากนั้น ปัจจุบันรัฐบาลอยู่ระหว่างการจัดทำโครงการปรับแต่งและซ่อมบำรุงรถโดยสารประจำทางโดยให้ผู้ประกอบการ มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหามลพิษจากรถโดยสารทั้งการฝึกอบรมให้ความรู้แก่ช่างเทคนิคประอู่ซ่อมรถโดยสาร และการฝึกอบรมพนักงานขับรถให้ขับขี่รถโดยสารอย่างถูกต้อง

แนวทางในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานครดังกล่าว ต้องมีการดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการควบคุมและลดปริมาณและการระบายมลพิษจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ ที่มีผลต่อการเพิ่มฝุ่นละอองและการเกิดก๊าซโอโซน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนการจัดการมลพิษทางอากาศและเสียง ซึ่งจะเป็นแผนบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้เกิดมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบและสอดคล้องกับมาตรการในการแก้ไขปัยหาอย่างถูกวิธีทั้งในระยะ 5 ปีข้างหน้าตลอดจนแผนการจัดการระยะต่อไป


Skip to content